‘เชลยศักดิ์’ ‘ราชสำนัก’ รักษาได้ นวดด้วยแพทย์แผนไทย
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือบุคคลทั่วไปรู้จักในนาม รพ.สต.คือการพัฒนายกระดับคุณภาพสถานีอนามัยในตำบลต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพรวมถึงแนวทางการพัฒนาระบบการบริการสาธารณสุขให้แก่ชุมชนหรือชาวบ้านในท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของชาวบ้านให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการแก่ประชาชนที่ยากจน
เป้าหมายหลักของการทำหน้าที่ รพ.สต.คือการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจและปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง ที่ตำบลไกรนอก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ตำบลศูนย์เรียนรู้สุขภาวะชุมชน โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง โดยนำการนวดแพทย์แผนไทยผนวกกับการรักษาผู้ป่วย
สุนันทา สีขาว ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เล่าว่า เดิมเคยเรียนการนวดตามหลักสูตรแพทย์แผนโบราณจากผู้เฒ่าผู้แก่มา 20 กว่าปี เมื่อเข้ามาทำงานด้าน อสม.มีโอกาสได้เรียนการนวดแบบแพทย์แผนไทยอีก 1 ปี เพื่อนำความรู้มาปรับใช้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไกรนอก
“ส่วนใหญ่คนในพื้นที่มีอาชีพเกษตรกรรม หลังเลิกงานชาวบ้านมักมีอาการปวดเข่า ปวดแขนขา ยกแขนไม่ขึ้น หรือปวดหลัง แล้วมาขอยาแก้ปวดไปรับประทาน เราจะแนะนำให้ผู้ป่วยนวดแผนไทยเสียก่อน นวดตามจุดที่ปวด เพื่อลดการปวดและลดการรับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาแก้ปวดไปในตัว เพราะการรับประทานยาปฏิชีวนะมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อกระเพาะได้ แต่การนวดนั้นหาก 1 อาทิตย์ผ่านไป อาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยสามารถกลับมานวดซ้ำได้” สุนันทา กล่าว
การนวดแผนไทยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ1.นวดแบบเชลยศักดิ์เป็นการนวดผ่อนคลายนวดธรรมดา เช่น ตึงตามข้อ ปวดแขนขา ปวดหลัง 2.นวดแบบราชสำนักคือ การนวดรักษาขั้นพื้นฐาน เช่น ปวดท้องประจำเดือน โรคท้องผูก ไหล่ติด ข้อติด อัมพาตครึ่งซีก คอตกหมอน เป็นต้น อีกทั้งต้องมีความรู้ด้านเส้นทางเดินพลังในการนวดแผนไทยหรือเส้นประธานสิบ มีชื่อเรียกตามจุด ดังนี้ อิทา ปิงคลา สุมนา กาลทารี สหัสรังษี ทุวารี จันทภูสัง รุทัง สิขินี และสุขุมัง
สุนันทา เล่าต่อว่า จุดเริ่มต้นของการรักษาโรค คือนวดเปิดประตูลมและตามด้วยกดจุด พร้อมกับเอาเส้นประธานสิบเข้ามารักษาโรค ก่อนทำการนวดต้องถามคนไข้ก่อนว่าเป็นอะไรมา ปวดตรงไหน ถ้าปวดเมื่อยทั้งตัวก็ใช้การนวดแบบเชลยศักดิ์ แต่ถ้าลูกสะบ้าไม่กลิ้งก็นวดราชสำนัก เป็นต้น ส่วนการนวดสามารถนำมาผสมผสานกันได้ทั้ง 2 ประเภท อย่างบางคนไม่ชอบนวด ก็เอาเชลยศักดิ์นวดเบาๆ แล้วต่อด้วยการกดจุดราชสำนัก ผลตอบรับจากการนวด 70 เปอร์เซ็นต์ ชอบและติดใจ สนใจมานวดซ้ำอีก นอกจากการนวดแล้วเราจะแนะนำคนไข้ด้วยว่าควรปฏิบัติตัวแบบไหน ทำตัวอย่างไร รวมถึงการดูแลตัวเองไปในตัว
การนวดแผนไทยของชาวตำบลไกรนอกถือเป็นการรักษาคนในชุมชน ซึ่งไม่ต้องรับประทานยาแก้ปวด แต่เปลี่ยนมาใช้ภูมิปัญญาการนวด และการใช้แพทย์ทางเลือกในการใช้สมุนไพรแทน โดยทีม อสม.หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไกรนอกปลูกจิตใต้สำนึกของชาวไกรนอกด้วยการใช้สมุนไพรแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน
“การนวดแผนไทยได้นวดเพียงอย่างเดียวแต่ยังนำสมุนไพรเข้ามาร่วมในการรักษาโดยนำลูกประคบมาประคบส่วนที่ปวดเมื่อยหลังการนวดอีกครั้ง บางครั้งยังนวดนอกเวลาทำการด้วย หากชาวบ้านคนไหนต้องการนวดเราก็นวดให้ โดยไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ เพราะสิ่งที่ต้องการไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินทอง แต่อยู่ที่ชาวบ้านมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย และที่สำคัญคือการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น การนวดแผนไทยพร้อมกับการใช้สมุนไพรเข้าด้วยกัน” สุนันทา เล่าด้วยความภาคภูมิใจ
อนาคตอันใกล้การนวดแพทย์แผนไทยอาจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยได้โดยตรงพร้อมกับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านให้อยู่ต่อไป