กรมควบคุมโรคแนะระวัง 4 โรคอันตราย จากภาวะอากาศร้อนจัด
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงกลางวันเวลาประมาณ 13.00-16.00 น.เป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุด โดยเฉพาะเวลาประมาณ 14.00 น.จะเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของวัน ซึ่งประชาชนอาจได้รับความร้อนมากจนเกินไปและเกิดภาวะขาดน้ำทำให้เสี่ยงต่อการป่วยด้วย 4 โรคสำคัญคือ โรคลมแดดหรือฮีสโตรก , โรคเพลียแดด , โรคตะคริวแดด และโรคผิวหนังไหม้แดด
ทั้งนี้ส่วนที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตคือโรคลมแดด มีอาการที่สังเกตง่าย คือ ผิวหนังจะแดงร้อนและแห้งไม่มีเหงื่ออุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ชีพจรเต้นแรงและเร็วมีอาการคลื่นไส้สับสนไม่รู้สึกตัว
สำหรับการช่วยเหลือเบื้องต้นให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่มทันที และ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวหรือแช่ตัวในน้ำเย็น ในรายที่มีอาการหนัก อาจจะใช้ผ้าชุบน้ำเย็นห่อตัวไว้ และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้
ส่วนผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจากอากาศร้อนคือ เด็กแรกเกิดถึงอายุ 4 ขวบ , ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป , ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือ มีน้ำหนักตัวมาก , คนป่วยหรือผู้ทานยาเป็นประจำ , ผู้ที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ และ ผู้ที่ดื่มสุราหรือเบียร์ในขณะที่มีสภาพอากาศร้อน
นพ.พรเทพ ยังแนะนำการป้องกันอันตรายจากอากาศร้อนเช่น เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ , ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว , ใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไปก่อนออกแดด 30 นาที , หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ๆ
นอกจากนี้ควรเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากจะทำให้หลอดเลือดใต้ผิวหนังขยายตัว ผนวกกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว จะทำให้สูญเสียน้ำทางเหงื่อและปัสสาวะได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้ร่างกายขาดน้ำ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น อาจช็อกหมดสติได้ ส่วนผู้ที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง กลางแดดร้อนขอให้ดื่มน้ำเย็น 2-4 แก้วทุกชั่วโมง หากเสียเหงื่อมากให้ดื่มน้ำเกลือแร่