กระแสนิยมหนังประวัติศาสตร์ในตุรกี
หลังเกิดจันทรุปราคาที่เชื่อว่าเป็นลางร้ายถึงเสียเมือง จักรพรรดิคอนสแตนตินก็ได้รับแจ้งว่าจะไม่มีกองหนุนทางเรือจากเวนิสมาช่วยรบ จนเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิลให้กับกองทัพของจักรวรรดิออตโตมัน และนำมาสู่การก่อตั้งกรุงอิสตันบูล นี่คือตำนานการสร้างชาติของชาวตุรกี ที่ถูกนำมาบอกเล่าบนแผ่นฟิล์มอีกครั้งในหนังทุนสร้าง 17 ล้านดอลลาร์ของตุรกีเรื่อง Fetih 1453 ที่ปลุกกระแสชาตินิยมในตุรกีในเวลานี้
ภาพยนตร์เรื่อง Fetih 1453 นำมาฉายในช่วงเวลาพอเหมาะกับช่วงที่เศรษฐกิจของตุรกีกำลังเฟื่องฟูในยุโรป หนังทำรายได้มากกว่าทุนสร้างถึง 3 เท่า ทั้งยังทำสถิติหนังรายได้สูงสุดของตุรกี และได้คำชื่นชมจากนายเทย์ยิป เออร์โดกัน นายกรัฐมนตรีตุรกี จนรัฐบาลเสนอให้ฉายยังสถานศึกษาให้เยาวชนได้ชมอีกด้วย
ท่ามกลางเสียงชื่นชมของคนในชาติ Fetih 1453 กลับถูกวิจารณ์อย่างหนักในประเด็นที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ ทั้งการบรรยายภาพจักรพรรดิคอนสแตนตินผู้เคร่งศาสนาให้เป็นผู้หลงใหลในอิสสตรี ขณะที่วีรกรรมสละชีพเพื่อทำลายกำแพงเมืองของทหารเติร์กแท้จริงแล้วเป็นผลงานของทหารรับจ้างชาวกรีก และเซอร์เบีย
รวมถึงการละเว้นการเสนอภาพการปล้น และสังหารหมู่ชาวกรีกของกองทัพออตโตมันหลังจากได้รับชัยชนะ จนหนังสือพิมพ์ Zaman ที่ส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลยังวิจารณ์เรื่องการเลือกปฏิบัติในหนังว่าซ้ำรอยฮอลลีวูดที่เคยป้ายสีชาวตะวันออกในภาพยนตร์ โดย บูรัก เบคดิล คอลัมนิสต์ถึงกับถูกขู่ฆ่าหลังวิจารณ์ว่าหนังส่งเสริมลัทธิชาตินิยมสุดขั้วด้วยการเสนอความป่าเถื่อนที่บรรพบุรุษสร้างไว้ในประวัติศาสตร์
ที่ผ่านมามีภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาดัดแปลง แต่บ่อยครั้งผลงานเพื่อความบันเทิงกลับสร้างความขัดแย้งทั้งในประเทศ และกับเพื่อนบ้าน Fetih 1453 เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่องแรกในรอบเกือบครึ่งศตวรรษของตุรกีที่ถ่ายทอดความเกรียงไกรของชนชาติ ไม่เพียงปลุกกระแสชาตินิยม แต่ยังเป็นประเด็นถกเถียงถึงข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ความสำเร็จของหนังยังทำให้ ฟารุค อัคซอย ผู้กำกับภาพยนตร์ ได้โปรเจ็คท์ทำหนังประวัติศาสตร์ต่ออีก 3 เรื่อง ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุด