ปัญหาฟองสบู่ ความต่างของโครงสร้างศก. เครื่องชี้ที่ยังห่างจากวิกฤต ช่วยลดความเสี่ยงได้
ท่ามกลางภาวะการเร่งตัวขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีส่วนหนุนให้การปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเหนือการเติบโตของจีดีพี จึงทำให้หลายฝ่ายเริ่มแสดงความวิตกมากขึ้นต่อความเสี่ยงฟองสบู่ที่อาจก่อตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจและการเงินที่แตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นกลไกสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ และการที่ธุรกิจไทยหันมาพึ่งพิงแหล่งเงินทุนในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเงินที่เข้มแข็งกว่าเดิมมาก ดังนั้น จึงน่าจะลดโอกาสเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยวิกฤตปี 2540 ลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การสำรวจสัดส่วนสินเชื่อรวม และสินเชื่อที่เกี่ยวพันกับภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อจีดีพี พบว่ายังต่ำกว่าช่วงวิกฤตปี 2540 ซึ่งเมื่อผนวกกับการยกมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินไทย นโยบายการกำกับดูแลในเชิงรุกมากขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงและการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในมิติต่างๆ ก็คาดว่าจะทำให้ความเสี่ยงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการปล่อยสินเชื่อนี้ได้รับการดูแลอย่างรัดกุม และไม่น่าจะเป็นชนวนที่ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวในปี 2555 และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ คงต้องอยู่ภายใต้การติดตามและตรวจสอบความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดจากทางการและสถาบันการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าสัญญาณเสี่ยงในระดับจุลภาค หรือในบางภาคส่วน อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และไม่ย้อนกลับมาเพิ่มความเสี่ยงให้กับภาพรวมเศรษฐกิจในที่สุด