ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

WHO ร่วมมือกัมพูชา เร่งตรวจเชื้อ โรคมือ เท้า ปาก อาจเป็นสาเหตุทำเด็กตาย

สังคม
10 ก.ค. 55
03:32
18
Logo Thai PBS
WHO ร่วมมือกัมพูชา เร่งตรวจเชื้อ โรคมือ เท้า ปาก อาจเป็นสาเหตุทำเด็กตาย

องค์การอนามัยโลก ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา วินิจฉัยโรคลึกลับที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็ก 52 คน จากเด็กที่ป่วย 59 คน ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยพบว่า การเสียชีวิตมีความเชื่อมโยงกับไวรัสเอนเตอโร 71 ที่เป็นต้นตอโรคติดต่อ มือ เท้า ปาก และเชื้อชนิดนี้เป็นชนิดรุนแรงที่เคยระบาดในประเทศไทยมาก่อน

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกแถลงการณ์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุ ผลการตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อหาสาเหตุของโรคติดต่อ ที่ระบาดในกัมพูชาตั้งแต่กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ผลทดสอบตัวอย่างจากห้องปฏิบัติการทดลอง พบตัวอย่างที่ให้ผลสอดคล้องกับเชื้อไวรัสเอนเตอโร 71 ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ

สำหรับไวรัสอีวี -71 นี้ เป็นไวรัสที่ก่อโรคมือ เท้า ปาก และอาจก่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในผู้ป่วยบางราย โดย นายนิมา อัสการี ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขของ WHO ประจำกัมพูชา กล่าวว่า ไวรัสชนิดนี้ พบได้ทั่วไปในเอเชีย แต่เชื่อว่ากัมพูชาไม่เคยมีไวรัสอีวี-71 ระบาดมาก่อน การระบุเชื้อได้ถือเป็นเพียงแค่ก้าวแรก และยังต้องมีการทดสอบเพิ่มเติมต่อไปด้วยว่าเด็กที่ติดเชื้อได้รับไวรัสชนิดอื่นด้วยหรือไม่

สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตล่าสุดทางการ ปรากฏในแถลงการณ์ คือมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 52 คน จากผู้ป่วย 59 คน ทั้งหมดเป็นเด็กอายุระหว่าง 3 เดือน ถึง 11 ปี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ เด็กที่ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการไข้สูง ตามด้วยสมองอักเสบ หรือมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ

ด้านนพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนี้ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั่วประเทศ ติดตามสถานการณ์ของโรคอย่างใกล้ชิดว่า มีคนไข้โรคนี้ที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์เดียวกับผู้ป่วยในกัมพูชาหรือไม่ เบื้องต้นขณะนี้ ไม่มีการกระจายการแพร่ระบาดของเชื้อในประเทศไทย หากมีการระบาดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมที่จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการควบคุมโรค เบื้องต้นได้มอบหมายให้มีการเฝ้าระวังโรคนี้เป็นพิเศษในศูนย์เด็กเล็กตามแนวชายแดน โดยจะต้องระมัดระวัง ดูแลเรื่องสุขอนามัยของเด็ก ต้องสอนเด็กล้างมือให้สะอาด ทั้งนี้ โรคนี้ไม่ถือเป็นโรคระบาด แต่พบประปราย ไม่ได้มีการระบาดรุนแรง แต่จะต้องดูแลสถานที่ที่มีเด็กเล็กมารวมตัวกันอยู่แออัดเป็นพิเศษ

ขณะที่นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง โรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทย โดยระบุว่า เมื่อปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปากที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์นี้ จำนวน 6 คน ซึ่งผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปากในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อค็อกซากี (Coxsackie) โดยตั้งแต่ต้นปี 2555 จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วย 10,813 คน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง