ตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน “ความรัก” เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงมนุษย์ทุกคนเข้าด้วยกัน แม้ว่ามาจากต่างวัฒนธรรม เพศ เชื้อชาติ หรือสถานะทางสังคม เรื่องเล่าต่าง ๆ จากทั่วโลกสะท้อนให้เห็นถึงความงดงามของความรักที่สามารถเอาชนะความแตกต่าง หรือข้อจำกัดใด ๆ
บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจ 5 ตำนานความรักหลากหลายที่สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นพลังขับเคลื่อนผู้คน
“แอนทิโนอุส” และ “เฮเดรียน” เด็กหนุ่มผู้ครองใจจักรพรรดิ
ยังคงเป็นเรื่องราวที่ยังได้รับการกล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้ กับเรื่องราวความรักของ แอนทิโนอุส (Antinous) เด็กหนุ่มชาวกรีกเจ้าของใบหน้าอันงดงาม ผู้ที่สามารถครองใจ เฮเดรียน (Hadrian) จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันผู้ยิ่งใหญ่
แอนทิโนอุส เกิดที่เมืองคลอดิโอโปลิส (Claudiopolis) แคว้นไบธีเนีย หรือประเทศตุรกีในปัจจุบัน ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับฮาเดรียนครั้งแรก ในปี ค.ศ. 123 ก่อนที่จะเฮเดรียนจะตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ และตัดสินใจอุปการะ ดูแลเด็กหนุ่มอย่างดี แอนทิโนอุสได้รับการศึกษาและฝึกฝนทักษะชั้นสูงต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นมหาดเล็กส่วนตัวของเฮเดรียนในอนาคต
Lambert Royston นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ กล่าวไว้ว่า ความรักที่เฮเดรียนมีต่อแอนทิโนอุส ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่ลงรอยในชีวิตสมรส และความรู้สึกที่ตนไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการทางเพศของผู้หญิงได้ ประกอบกับค่านิยมในยุคกรีก-โรมันในยุคนั้นไม่ถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มโตเต็มวัยกับเด็กหนุ่มเป็นเรื่องผิด ถ้าทั้งสองฝ่ายเต็มใจ ทำให้เขาทั้งสองมีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง
แต่เวลาแห่งความสุขนั้นผ่านไปไวเสมอ ในปี ค.ศ. 130 แอนทิโนอุส ผู้เป็นที่รักของจักรพรรดิฮาเดรียน ได้จมน้ำเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาในแม่น้ำไนล์ ความสูญเสียครั้งนี้สร้างความเสียใจต่อองค์จักรพรรดิอย่างยิ่ง พระองค์ทรงจัดพิธีไว้อาลัยต่อหน้าสาธารณชนอย่างยิ่งใหญ่ และยกย่องให้แอนทิโนอุสเป็นเทพเจ้า พบหลักฐานว่าเขาได้สร้างวิหาร และประติมากรรมของแอนทิโนอุสเพื่อรำลึกถึงชายคนรักทั่วทั้งจักรวรรดิ คาดว่ามีการสร้างประติมากรรมของแอนทิโนอุส ประมาณ 2,000 ชิ้นในเวลาเกือบ 8 ปี ก่อนที่ฮาเดรียนจะสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 138
“อพอลโล” และ “ไฮยาซินทัส” โศกนาฏกรรมความรักของมนุษย์กับเทพ
อพอลโล และ ไฮยาซินทัส เป็นเรื่องราวความรักระหว่าง “เทพเจ้าอพอลโล” (Apollo) เทพแห่งดวงอาทิตย์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ได้มาตกหลุ่มรักกับ “ไฮยาซินทัส” (Hyacinthus) เจ้าชายแห่งนครรัฐสปาร์ตา ทั้งสองต่างมีใจให้กันและกันตั้งแต่แรกพบ และใช้เวลาร่วมกันตามประสาคนรักเรื่อยมา
แต่ชีวิตรักที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบกลับต้องสั่นคลอน เมื่อวันหนึ่ง เทพเซฟีรัส (Zephyrus) เทพแห่งลมตะวันตก ผ่านมาพบเห็นไฮยาซินทัสที่กำลังเล่นขว้างจักรอยู่กับอพอลโลพอดี ทำให้เขาตกหลุมรักไฮยาซินทัสเช่นกัน ด้วยความริษยาที่ตนไม่สามารถครองหัวใจของไฮยาซินทัสได้ เซฟีรัสจึงดลบันดาลให้ลมพัดจักรที่อพอลโลขว้างกับมือไปกระทบเข้าที่ศีรษะของไฮยาซินทัสจนเสียชีวิต
แม้เป็นถึงเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ แต่ก็ไม่อาจนำชีวิตคนรักของตนกลับคืนมาได้ ความเสียใจของอพอลโลกลั่นออกมาเป็นน้ำตาที่หยดลงบนตัวของไฮยาซินทัส แล้วเกิดเป็น “ดอกไฮยาซินธ์” สีม่วงเข้ม ซึ่งในปัจจุบันเป็นสัญลักษณ์ของคำขอโทษและความรักที่ไม่สมหวัง
คิวปิด” กับ “ไซคี” ตำนานรักของเทพผู้ดลบันดาลรัก
หลายคนอาจคุ้นเคยกับ “คิวปิด” (Cupid) ในฐานะเทพแห่งความรัก มีรูปลักษณ์ป็นเด็กชาย มีปีก ถือธนูและคันศรไว้ในมือ มีหน้าที่คอยแผลงศรให้ชายหนุ่มและหญิงสาวรักกัน แต่รู้หรือไม่ว่าในอีกเรื่องเล่าคิวปิดเป็นเทพเจ้าหนุ่มรูปงามที่ก็มีชีวิตรักเป็นของตัวเองด้วย
ตามเรื่องเล่าของ อาพุเลอัส (Apuleius) นักกวีชาวละตินในคริสต์ศตวรรษที่ 12 คิวปิดและไซคี เป็นตำนานความรักระหว่าง “คิวปิด” เทพหนุ่มรูปงามบุตรชายของเทพวีนัส และ “ไซคี” (Psyche) หญิงสาวผู้ได้รับการขนานนามว่างามเลิศยิ่งกว่าเทพีแห่งความงามอย่างเทพวีนัส หรือ “อะโฟร์ไดต์” ในภาษากรีก
ความงามของไซคีเป็นที่เลื่องลือไปถึงสวรรค์ ทำให้เทพีวีนัสเกิดความอิจฉาและริษยา จึงสั่งให้คิวปิดบุตรชายของตนสาปให้ไซคีด้องหลงรักสัตว์ร้ายหน้าตาอัปลักษณ์ แต่แผนการก็ไม่เป็นตามที่หวัง เมื่อคิวปิดกลับตกหลุมรักเธอเสียเอง
ซึ่งกว่าทั้งสองจะได้ครองรักกันอย่างมีความสุข จะต้องผ่านบททดสอบสารพัดจากเทพเจ้าวีนัสที่ต้องการกลั่นแกล้งไซคีเป็นทุนเดิม ตั้งแต่สั่งให้ไซคีไปเก็บความงามมาจาก เทพีเพอร์เซโฟนี (Persephone) ราชินีแห่งยมโลก ให้คัดแยกกองเมล็ดพืชขนาดมหึมาภายในคืนเดียว หรือไปขโมยขนแกะทองคำจากฝูงแกะที่ดุร้าย
แม้จะมีภารกิจอันยากลำบากขวางกั้น แต่ท้ายที่สุดด้วยความรักที่ไซคีมีต่อคิวปิด และจากการช่วยเหลือจากเทพเจ้าซุส ก็ทำให้ไซคีสามารถผ่านการทดสอบทั้งหมดไปได้ และได้ครองคู่กับคิวปิดอย่างมีความสุข
ตำนานรักแห่งดวงดาว เจ้าหญิงทอผ้าและชายเลี้ยงวัว
ในวันที่ 7 ก.ค.ของทุกปี ถือเป็นวันแห่งการขอพรของประเทศญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วันทานาบาตะ” ซึ่งในวันนี้นอกจากจะเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับตำนานเล่าขานของเจ้าหญิงทอผ้าและชายเลี้ยงวัว ที่ทั้งสองได้มาเจอกันในวันนี้อีกด้วย
ตำนานเจ้าหญิงทอผ้าและชายเลี้ยงวัว เป็นเรื่องราวความรักของ “เจ้าหญิงโอริฮิเมะ” บุตรสาวของเทพเจ้าผู้ครองสวรรค์ ผู้มีฝีมือการทอผ้าเป็นเลิศที่สุดในหมู่เทพ และ “ฮิโกโบชิ” ชายเลี้ยงวัวหนุ่มรูปงาม ทั้งคู่พบรักกันจากความต้องการของผู้เป็นพ่อที่ต้องการให้บุตรสาวของตนมีคู่ครอง
ทั้งสองลุ่มหลงมัวเมาในความรัก จนต่างฝ่ายต่างละเลยหน้าหน้าที่ของตน เจ้าหญิงโอริฮิเมะไม่ขยันทอผ้าเหมือนแต่ก่อน ชายหนุ่มลี้ยงวัวก็ไม่เลี้ยงดูวัวของตน ทำให้เทพเจ้าเทนเทย์โกรธมาก จึงแยกทั้งสองออกจากกัน ด้วยการลากเส้นทางช้างเผือกมาขวางกั้น และอนุณาตให้ทั้งสองพบเจอกันได้ 1 ครั้งใน 1 ปี ซึ่งก็คือวันที่ 7 เดือน 7 นั่นเอง
หม่อมเป็ดสวรรค์ สัมพันธ์แบบ “เล่นเพื่อน” ในราชสำนัก
"หม่อมเป็ดสวรรค์" คือชื่อกลอนเพลงยาวที่ร้อยเรียงมาจากเรื่องราวความรักแบบหญิงรักหญิง ที่เกิดขึ้นจริงในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของ หม่อมสุดและหม่อมขำ สองหม่อมห้ามในพระราชวังบวรสถานมงคล ประพันธ์ขึ้นโดย คุณสุวรรณ ราชนิกูลบางช้าง กวีหญิงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
บทประพันธ์เล่าถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของหม่อมสุดและหม่อมขำ ที่ได้มาพบกันขณะรับราชการในพระบรมหาราชวัง ทั้งคู่ผูกพันกันในฐานะเพื่อนสนิทก่อนจะค่อย ๆ พัฒนาเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมากกว่าเพื่อน ในสมัยนั้นเรียกว่า “เล่นเพื่อน” มีความหมายถึง การคบหาในลักษณะ “หญิงรักหญิง”
แน่นอนว่า การคบหากันระหว่างเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ผิดดต่อกฎมณเฑียรบาล แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกนักเพราะสตรีในวังอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบหญิงล้วน เนื่องจากเขตพระราชฐานชั้นในจะไม่อนุญาตให้ผู้ชายเข้า การไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม สตรีในวังหลายคนจึงหันมา “เล่นเพื่อน“ หรือคบหากันเอง ซึ่งในกรณีของหม่อมทั้งสองไม่ได้ถูกลงโทษอะไรจากการมีสัมพันธ์กัน ส่วนหนึ่งมาจากพระเมตตาของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ที่มิทรงถือโทษกับความสัมพันธ์ของทั้งสอง และทรงชุบเลี้ยงทั้งสองอย่างดีเสมอมา
เรื่องราวของหม่อมสุดและหม่อมขำในเพลงยาว "หม่อมเป็ดสวรรค์" ถูกดัดแปลงมาเป็นละครเตรียมออกอากาศทาง Thai PBS กดหมายเลข 3 เร็ว ๆ นี้
และพลาดไม่ได้! วันที่ 19 ตุลาคม นี้ เตรียมตัวมาพบกันที่งาน “ใต้เงาจันทร์ ลำนำรักมิอาจห้าม หม่อมเป็ดสวรรค์” งานเปิดตัวละครที่จะพาทุกคนได้ใกล้ชิดกับนักแสดงและทีมงาน รวมทั้งมีกิจกรรมมากมายได้ร่วมสนุก ณ วัดเทพธิดารามวรวิหาร เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ติดตามรายละเอียดได้ทุกช่องทางของ Thai PBS และ เพจละครไทยพีบีเอส
ที่มา : Britannica, North Lincolnshire Museum