ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“หมอยง” ไขข้อสงสัย “เชื้อโนโรไวรัส” ระบาด น่ากังวลหรือไม่ พร้อมวิธีป้องกัน


Thai PBS Care

20 ธ.ค. 67

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

“หมอยง” ไขข้อสงสัย “เชื้อโนโรไวรัส” ระบาด น่ากังวลหรือไม่ พร้อมวิธีป้องกัน

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2052

“หมอยง” ไขข้อสงสัย “เชื้อโนโรไวรัส” ระบาด น่ากังวลหรือไม่ พร้อมวิธีป้องกัน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

หลายคนเริ่มตระหนกกับข่าวการระบาดของ “เชื้อโนโรไวรัส” (Norovirus) ในประเทศจีน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เชื้อติดง่าย ทนความร้อน ทนน้ำยาฆ่าเชื้อ และหายเร็ว 

ล่าสุดพบในประเทศไทย กับเหตุการณ์นักเรียนท้องเสียทั้งโรงเรียนรวม 1,436 คน แม้จะพบนักเรียน 2 คนมีเชื้อโนโรไวรัส ที่เหลือติดเชื้อโคลิฟอร์ม (Coliform bacteria) กับอีโคไล  (Escherichia coli)

แต่ก็ทำให้หลายคนกังวลใจถึงสถานการณ์ระบาด ว่าจะร้ายแรงเหมือนโควิด-19 หรือไม่ ถือโอกาสรู้จักและป้องกัน

 

“เชื้อโนโรไวรัส” (Norovirus) น่ากลัวหรือไม่

ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือหมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์กับรายการจับตาสถานการณ์ ไทยพีบีเอส ว่า

เชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ไม่ใช่โรคใหม่ รู้จักมา 50 ปี ตั้งแต่สมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์ ตัวโรคคล้ายกับอาหารเป็นพิษ มีอุจจาระ และอาเจียน ซึ่งประเทศไทยแทบไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้

“โรคนี้อยู่กับเราแต่ไหนแต่ไร ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้มุ่งเน้นการตรวจหาไวรัส ไปมุ่งเน้นตรวจหาแบคทีเรียเป็นหลัก ในผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ”

หมอยงอธิบายถึงวิวัฒนาการการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้ตรวจเจอเชื้อโนโรไวรัสง่ายขึ้น เหมือนการตรวจ ATK แล้วเจอโควิด-19 ทำให้ถูกพูดถึงและจับตามากขึ้น ว่าอาจเป็นโรคระบาดในอนาคต

สำหรับโนโรไวรัส เป็นโรคที่พบทั่วโลก โดยเฉพาะในฤดูหนาวของทุกประเทศ มักเจอเป็นกลุ่มก้อน เช่น ในเรือสำราญที่ท้องเสียทั้งลำ ในโรงเรียน หมอยงตั้งข้อสังเกตว่าจริง ๆ อาการท้องเสียและอาเจียนหมู่ในโรงเรียนที่ผ่านมา อาจเพราะโนโรไวรัสตัวนี้ก็ได้ เพียงแต่ไม่ค่อยวินิจฉัยตรวจหาไวรัสตัวนี้ ไปมุ่งเน้นตรวจหาแบคทีเลีย อีโคไล  (Escherichia coli) ซาลโมเนลลา (Salmonella)

“หลัก ๆ ในไทย อันดับ 1 เลยน่าจะเป็นโนโรไวรัส เพราะอีโคไล ซาลโมเนลลา จะพบในประเทศที่สาธารณสุขไม่ดี แต่ของไทย สาธารณสุขดีมาก ในประเทศพัฒนาแล้วสาเหตุมาจากไวรัสมากกว่าแบคทีเลีย”

ศ. นพ.ยงกล่าว ย้ำว่า ฉะนั้นไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องถึงกับอ่านไลน์แล้วส่งต่อกันจนรู้สึกว่าโรคนี้น่ากลัว โรคนี้อยู่เรามาโดยตลอด

ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือหมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ

 

เดือน พ.ย. 67 “โนโรไวรัส” (Norovirus) ระบาดหนัก

ดูสถิติการเกิดโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส ปี 2561-2567 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้ป่วยสะสมรวม 729 คน 

ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ช่วงอายุที่ติดมากที่สุด คือกลุ่มเด็กเล็กวัน 0-4 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี และ 5-9 ปีตามลำดับ

สถิติการเกิดโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส ปี 2561-2567 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ภาพรวมของการเกิดโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในไทย ใน 1 ปี มีคนเป็นโรคท้องร่วง 600,000-700,000 คน อย่างปี 2566 ป่วย 689,954 คน เสียชีวิต 2 คน 

ส่วนปี 2567 มีการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และสูงกว่าค่ากลางย้อนหลัง 5 ปี ข้อมูลถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วยแล้วกว่า 743,697 คน เสียชีวิต 2 คนเช่นกัน แต่ในจำนวนผู้เสียชีวิต ไม่ได้เกิดจากโนโรไวรัส

สถานการณ์ภาพรวมของการเกิดโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในไทย

 

แต่ที่น่าสนใจ ถ้าดูข้อมูลเฉพาะปี 67 แนวโน้มผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากโนโรไวรัสช่วงเดือนพฤศจิกายนมี 1,240 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าค่อนข้างมาก จากส่วนใหญ่จะพบที่หลักร้อยคน โดยพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น

ข้อมูลเฉพาะปี 67 แนวโน้มผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากโนโรไวรัสช่วงเดือนพฤศจิกายนมี 1,240 คน

 

มีวัคซีนป้องกัน “โนโรไวรัส” (Norovirus) หรือยัง

ถึงตรงนี้หลายคนเริ่มสงสัยแล้วว่าปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) แล้วหรือยัง ถาม ศ. นพ.ยง ตอบทันทีเลยว่า ยังไม่มี และน่าจะยังไม่มีในเร็ว ๆ นี้

ศ. นพ.ยง อธิบายว่า การมีวัคซีนป้องกันโรคนี้คงจะยาก เพราะจากการศึกษาโนโรมีความหลากหลายทางพันธุกรรม มีการผสมสายพันธุ์ย่อย และเกิดสายพันธุ์ใหม่ตลอดเวลา ฉะนั้นการไล่จับสายพันธุ์ที่จะเหมาะไปทำวัคซีน จึงค่อนข้างยาก

“หากเปรียบเทียบความรุนแรงของโรค กับการลงทุนคิดค้นวัคซีน แน่นอนบริษัทหรือหน่วยงานที่จะมาคิดค้น เขาก็ไปเพ่งเล็งโรคที่มีความรุนแรงหรือความสูญเสียมากกว่า”

 

วิธีกำจัดเชื้อ “โนโรไวรัส” (Norovirus) ด้วยตัวเอง

โนโรไวรัสติดเชื้อง่ายมาก มาทางอุจจาระและอาเจียนของผู้ป่วย หมอยงกำชับว่าฉะนั้นเราต้องระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้เชื้อหลุดรอดในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผ้าอ้อมเด็กที่มีอาการท้องเสีย ให้หยอดโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (Sodium Hypochlorite) หรืออะไรก็ตามที่มีส่วนประกอบคลอลีน เช่น น้ำยาฟอกขาว น้ำยาล้างห้องน้ำ ที่เราต้องปิดปาก ปิดจมูก หยอดไป 1 หยดก่อนแล้วค่อยทิ้ง

“ผมเชื่อว่าเกือบ 100% ขยะติดเชื้อเหล่านี้ ทิ้งในถังขยะธรรมดา ทำให้เชื้อหลุดไปในสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นต้องทำลายเชื้อก่อนทิ้ง เพื่อลดการแพร่กระจาย” ศ. นพ.ยง กล่าว

“หมอยง” ไขข้อสงสัย “เชื้อโนโรไวรัส” ระบาด น่ากังวลหรือไม่ พร้อมวิธีป้องกัน

 

“โนโรไวรัส” (Norovirus) อาการ-รักษาอย่างไร

อาการส่วนใหญ่ เหมือนกับโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไปคือ 

  • ท้องเสีย 
  • อาเจียน 
  • คลื่นไส้ 
  • ปวดท้อง 
     

ร่วมกับมีอาการอื่นๆ ได้แก่ 

  •  มีไข้ 
  • ปวดศีรษะ 
  • ปวดเมื่อยตามตัว 

แต่ในกลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำอย่างเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเฉียบพลันรุนแรงได้ เชื้อโนโรไวรัส ไม่มียาเฉพาะ ต้องรักษาตามอาการ 

ส่วนวิธีป้องกันโนโรไวรัสที่ดีที่สุด คือ ใช้หลัก กินสุก กินร้อน ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด อย่างน้อย 20 วินาที ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร จะเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด

ที่มา : จับตาสถานการณ์

🎬 ชมคลิปเพิ่มเติมที่ 

 

📖 อ่านเพิ่มเติม : 
•  How to ใช้สิทธิ “30 บาทรักษาทุกที่” แค่มีบัตรประชาชน
“หมอยง” ชี้ “เชื้อโนโรไวรัส” ระบาด น่ากังวลหรือไม่ (คลิป)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ไวรัสหมอยงศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด