หลังจากรับประทานอาหารมื้อกลางวัน เราและกลุ่มเพื่อนร่วมงานเตรียมเข้างานในช่วงบ่าย เมื่อมีคนแรกหาว คนสองคนสามก็หาวตามมาเป็นพรวน รวมถึงตัวเราด้วย จุดประเด็นชวนสงสัย “หาว” สามารถติดต่อกันได้หรือไม่ ?
“การหาว” เป็นปรากฏการณ์สากลที่สังเกตพบได้ในสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิดตั้งแต่หมาป่าไปจนถึงนกแก้ว รวมถึงมนุษย์ด้วย ตั้งแต่ยังเด็กยันผู้ใหญ่ แต่ทำไมเราจึงมักหาวเมื่อเห็นคนอื่นหาว ?
มีสมมุติฐานเกี่ยวกับจุดประสงค์ของการหาวมากมาย เช่น หาวเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้สมอง ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย หรือส่งสัญญาณทางสังคม เป็นต้น แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเข้าเค้าก็คือ ความเชื่อมโยงระหว่างการหาวและจังหวะการทำงานของร่างกายของเรา โดยการหาวส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงพักผ่อนโดยทั่วไปมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ตื่นนอน - กำลังจะหลับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อร่างกายตื่นตัวน้อยลง เช่น เมื่อร่างกายกำลังย่อยอาหาร
แม้ว่าสาเหตุของการหาวยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่ลักษณะ “ติดต่อ” ของการหาวนั้น ได้ก่อให้เกิดการค้นพบที่สำคัญในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งในชีววิทยาและจิตวิทยาสังคม โดยการหาวอาจมีบทบาทสำคัญในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ดังที่สังเกตได้ในนกกระจอกเทศซึ่งใช้การหาวเพื่อปรับพฤติกรรมของกลุ่ม เช่นเดียวกับในมนุษย์ นกกระจอกเทศมักจะหาวเมื่อเปลี่ยนจากการตื่นนอนเป็นพักผ่อน หรือในทางกลับกัน เป็นต้น
โดยการหาวสามารถเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมหรือความตื่นตัว ช่วยให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มรู้สึกตื่นตัวหรือพักผ่อนในเวลาเดียวกัน เพิ่มความปลอดภัยร่วมกันและรักษาจังหวะของกลุ่ม แต่อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อจากการหาวดูเหมือนว่าจะเป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์เป็นหลัก
นำมาสู่แนวคิดที่ว่าการหาวของมนุษย์นั้นนอกจากจะเป็นการทำงานทางสรีรวิทยาแล้ว ยังเป็นการสื่อสารที่ไม่ใช้คำพูดอีกด้วย สมมุติฐานหลักก็คือ การหาวจะช่วยทำให้พฤติกรรมของกลุ่มสอดคล้องกัน ซึ่งเป็นหน้าที่คล้ายกับที่พบในนกกระจอกเทศนั่นเอง
การเห็นหรือได้ยินใครหาวจะไปกระตุ้นบริเวณสมองที่เกี่ยวข้องกับการเลียนแบบและความเห็นอกเห็นใจ โดยเซลล์ประสาทจะถูกกระตุ้นโดยการสังเกตการกระทำ เช่น เมื่อเด็กทำตามการเคลื่อนไหวของพ่อแม่เพื่อผูกเชือกรองเท้าให้ เป็นต้น
แล้วการ “หาว” สามารถติดต่อกันได้หรือไม่ ?
แม้ความเห็นอกเห็นใจดูเหมือนจะมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดอาการหาวติดต่อได้ รวมถึงปัจจัยภายนอก เช่น การหายใจและอุณหภูมิร่างกายอาจลดจะเพิ่มการหาวติดต่อได้ตามลำดับ แต่งานวิจัยซึ่งเผยแพร่ใน Sage Journals เผยการศึกษาว่า แนวคิดที่ว่าการหาวสามารถการแพร่ระบาดให้กันได้อาจเกินจริงไป เนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการสังเกตบุคคลเป็นกลุ่ม ซึ่งสามารถส่งผลต่อความถี่ในการหาวที่สังเกตได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเห็นใครหาวที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาได้เช่นกัน โดยการหาวต่อกันเป็นทอด ๆ น่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มมากกว่า
ดังนั้น หากเราหาวต่อจากเพื่อนร่วมงานหลังอาหารเที่ยง ก็มีความเป็นไปได้ว่าการหาวของเพื่อนร่วมงานไม่ได้ส่งผลต่อเรา แต่อาจเป็นเพราะบริบทร่วมกัน เช่น รับประทานอาหารดี ๆ ร่วมกัน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาดังกล่าว
🎬 ชมคลิป “หาวบ่อย” เป็นสัญญาณบอกโรคอะไรบ้าง
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : journals.sagepub, theconversation
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech