ถนนทรุด ถนนยุบ ถนนผุ ถนนพัง คำเหล่านี้ล้วนวนเวียนอยู่รอบ ๆ ตัวเรา เนื่องจากที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับ “ถนนพังเสียหาย” เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ วันนี้ Thai PBS รวมเรื่องน่ารู้ “มาตรฐานถนนที่ดี” ควรจะเป็นอย่างไร ?
กว่าจะเกิด “ถนน” แต่ละเส้นทาง ต้องผ่านอะไรบ้าง ?
การสร้าง “ถนน” ขึ้นมาสักเส้นทางหนึ่ง ต้องผ่านกระบวนการ และมีหลักการที่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม โดยอาศัยหลักการประเมิน ดังนี้
1.ข้อมูลด้านวิศวกรรมจราจร ประกอบด้วย
- การดูแบบโครงการถนนที่จะทำการก่อสร้าง
- การคำนวณนับปริมาณการจราจรของรถยนต์แต่ละประเภท โดยนับช่วงเวลาตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการออกแบบ
- การสำรวจสภาพดินเดิมตามแนวสายทาง เพื่อหาค่าคุณสมบัติทางปฐพีกลศาสตร์ grnjvประกอบการออกแบบถนน
- การหารือ ทำความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใรท้องที่ที่ทำการสร้างถนน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง
2.ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคม ต้องพิจารณาความคุ้มค่า การสร้างถนนแต่ละเส้นทาง ก่อให้เกิดประโยชน์และความคุ่มค่าต่อประชาชนและสาธารณะมากแค่ไหน
3.ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ต้องพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตแนวถนนที่จะทำการก่อสร้าง เช่น ต้นไม้ ที่พักอาศัยโดยรอบ วัด โรงเรียน การก่อสร้างถนนเหล่านี้ จะก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกับสิ่งแวดล้อมเดิมหรือไม่
4.ข้อมูลด้านยุทธศาสตร์ การก่อสร้างถนนบางแห่ง อาจเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ เช่น ต้องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จึงเกิดการสร้างถนนขึ้นมา ปัจจัยถือเป็นเรื่องที่ต้องดูตามดุลยพินิจเช่นกัน
การออกแบบถนนตามมาตรฐาน ควรเป็นอย่างไร ?
หลักในการออกแบบถนนของประเทศไทย มีสาระสำคัญ ดังนี้
- ถนนควรมีการรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 21 ตัน
- ต้องมีการออกแบบและจัดทำทางระบายน้ำสองข้างทาง
- ทางแยกหัวมุมถนน ซึ่งเกิดจากการเชื่อมหรือตัดกันของถนน ต้องออกแบบขอบผิวจราจรด้านใน ให้มีรัศมีความโค้งไม่น้อยกว่า 5 เมตร
- ช่องลอดของถนน ต้องมีระยะลอดในแนวดิ่งไม่น้อยกว่า 5 เมตร
- การยกระดับของถนนบนทางโค้ง ต้องไม่เกิน 0.10 เมตร / เมตร
- ความกว้างของผิวจราจรของสะพาน ต้องไม่น้อยกว่าความกว้างของผิวจราจรที่ออกแบบ โดยจะต้องมีไหล่ทาง หรือทางเดินและทางเท้าประกอบด้วย
การสร้าง “ถนน” ที่ได้มาตรฐานเป็นอย่างไร ?
ขั้นที่ 1 เตรียมพื้นฐานทาง ถือเป็นขั้นตอนของการปรับดินและนำวัสดุที่ไม่ต้องการออกจากดิน เพื่อให้ได้คันทางตามรูปแบบของถนนที่ออกแบบไว้
ขั้นที่ 2 การรองพื้นทาง (Subbase) เป็นขั้นตอนในการช่วยเพิ่มความแข็งแรง และเป็นฐานที่ช่วยให้ผิวทางมีความเรียบสม่ำเสมอ รวมทั้งช่วยลดการแอ่นตัวของผิวทางในอนาคต ปกติการทำรองพื้นทาง มักใช้วัสดุที่หาง่าย เช่น ดินลูกรัง หรือทราย
ขั้นที่ 3 การสร้างชั้นราก (Base) โดยเป็นชั้นที่อยู่ใต้ผิวทาง มีหน้าที่ช่วยรับน้ำหนัก ดังนั้น วัสดุที่ใช้จึงต้องมีคุณภาพดี แข็งแรง เช่น กรวดอัดแน่น หินคลุกซีเมนต์ วัสดุเม็ด วิธีการในขั้นตอนนี้ ต้องในรถบด เพื่อบดอัดวัสดุจนมีความแน่น
ขั้นที่ 4 สร้างชั้นผิวทาง (Surface) ขั้นตอนนี้เป็นการสร้างผิวถนนที่รองรับการจราจรของรถยนต์ โดยปกติวัสดุผิวถนนที่นิยมใช้มีอยู่ 3 แบบคือ
- ผิวถนนลูกรัง ใช้ลูกรังอัดแน่นเพื่อเป็นผิวถนน ข้อดีคือ ใช้งบประมาณน้อย ก่อสร้างง่าย แต่ในมุมกลับกัน เกิดการชำรุดได้ง่ายเช่นกัน และมีฝุ่นคลุ้งตลอดเวลา และหน้าฝนอาจเป็นหลุมเป็นบ่อได้
- ผิวถนนคอนกรีต ลักษณะเป็นคอนกรีตธรรมดาและคอนกรีตเสริมเหล็ก มีการรับน้ำหนักได้ดีกว่าถนนลูกรัง ใช้งานได้นาน ก่อสร้างง่าย ข้อเสียคือ ผิวการจราจรมักจะไม่เรียบเพราะมีรอยต่อหลายจุด
- ผิวถนนลาดยางมะตอย (แอสฟัลต์) เป็นผิวถนนที่พบได้มากที่สุด เนื่องจากใช้เวลาก่อสร้างไม่นาน ข้อดีคือ ถนนมีผิวเรียบ ไม่มีรอยต่อเหมือนผิวคอนกรีต มีความยืดหยุ่นสูง ใช้งานได้นาน แต่เวลาซ่อมบำรุง ต้องใช้เครื่องจักรในการจัดการ
ถนนตามมาตรฐาน ซ่อมบำรุงอย่างไร ?
การซ่อมบำรุง ถือเป็น “หัวใจ” เพื่อป้องกันอาการถนนทรุด หรือยุบตัว โดยปกติ การบำรุงรักษา หรือ Road maintenance มีลักษณะดังนี้
- งานบำรุงปกติ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ต้องทำอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ถนนมีสภาพที่ดีอยู่เสมอ ลักษณะงานบำรุงปกติ เช่น งานกวาดเกลี่ยหรือบดทับผิวลูกรังใหม่ งานอุดรอยแตก งานฉาบผิว งานปะซ่อมผิวทาง งานขุดซ่อมผิวลาดยาง งานอุดรอยต่อของผิวคอนกรีต
- งานบำรุงตามกำหนดเวลา คืองานตรวจเช็กถนนตามเวลาที่กำหนด เพื่อให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เช่น งานฉาบผิวแอสฟัลต์ งานเสริมผิวลูกรัง งานบูรณะถนนคอนกรีต
- งานบำรุงพิเศษ กรณีนี้เป็นการเสริมแต่งป้องกันถนนที่ชำรุดเกินกว่างานซ่อมปกติจะทำได้ เช่น การปรับระดับผิวถนนแอสฟัลต์ งานซ่อมไหล่ทาง
- งานบำรุงฉุกเฉิน เกิดขึ้นในกรณีมีการชำรุดเสียหายอย่างมาก เช่น การซ่อมแซมถนนที่เสียหายจากอุทกภัย
ตัวแปรที่ทำให้ “ถนน” เกิดการชำรุดซ้ำซากนั้น มีหลายสาเหตุ ทั้งการถูกใช้งานอย่างหนักจากยานพาหนะ การเสื่อมสภาพจากอากาศ การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่ทั้งนี้ หากได้รับการบำรุงดูแลตามมาตรฐาน โอกาสชะลอความเสื่อมสภาพของถนน จะลดลงไปเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และลดความสิ้นเปลืองงบประมาณในการซ่อมแซมลงไปอีกด้วย
“ถนน” อาจมีหลายเส้นทาง แต่ “งบประมาณ” ที่สร้างถนน มาจากภาษีของพวกเราทุกคน สุดท้ายสมบัติสาธารณะเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันดูแลและรักษาให้เป็นประโยชน์ร่วมกันต่อไป