หุ่นยนต์ Perseverance สามารถจับภาพ “สุริยุปราคา” ที่เกิดจากดวงจันทร์โฟบอส บริวารของดาวอังคารที่เคลื่อนที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ของปีนี้ไว้ได้ ทำให้เกิดภาพดวงตากลมโตมองมาจากบนท้องฟ้า
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2024 ยานโรเวอร์ Perseverance ของ NASA ได้จับภาพดวงจันทร์โฟบอส (Phobos) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองดวงจันทร์ของดาวอังคารในขณะที่เคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์
ดาวอังคารมีดวงจันทร์บริวารสองดวง ได้แก่ โฟบอสกับดีมอส (Deimos) ทั้งสองเป็นดวงจันทร์ขนาดเล็ก โฟบอสเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกถึง 157 เท่า มีวงโคจรที่อยู่ใกล้ดาวอังคารมากที่ประมาณ 9,300 กิโลเมตร ส่วนดีมอสเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกถึง 280 เท่า อยู่ไกลจากดาวอังคารออกไปที่ประมาณ 23,400 กิโลเมตร
ดวงจันทร์โฟบอสที่เกิดอุปราคาในครั้งนี้ การที่มันมีวงโคจรที่ใกล้กับดาวอังคารมาก ส่งผลให้มันโคจรครบหนึ่งรอบใช้เวลาเท่ากับ 7.6 ชั่วโมง ในหนึ่งปีบนดาวอังคารจึงเกิดอุปราคาได้หลายครั้ง คราสในแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 วินาที
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หุ่นยนต์บนพื้นผิวดาวอังคารสามารถจับภาพอุปราคาได้ ในปี 2004 หุ่นยนต์ Opportunity สามารถจับภาพอุปราคาของดวงจันทร์โฟบอสได้ในวันที่ 7, 10 และ 12 มีนาคม 2004 ได้ และ 13 มีนาคม 2004 หุ่นยนต์ Spirit ก็จับภาพอุปราคาของดวงจันทร์ดีมอสได้
แม้แต่ยาน InSight ก็สามารถตรวจจับอุปราคาของทั้งดวงจันทร์โฟบอสและดีมอสได้ การเคลื่อนผ่านในปี 2019 พบว่าแสงจากดวงอาทิตย์มีการเปลี่ยนแปลงความสว่างไปเพียงเล็กน้อย
นอกจากที่ยานสำรวจบนพื้นดินจะสังเกตอุปราคาได้แล้ว ยานสำรวจจากวงโคจรก็ยังสามารถถ่ายภาพเหตุการณ์อุปราคาได้หลายต่อหลายครั้งอีกด้วย เช่น ปี 1977 ยานไวกิ้ง 1 ทั้งบนพื้นดาวอังคารและบนอวกาศ (โครงการไวกิ้งมียานอวกาศชื่อเดียวกันสองลำเป็นยานบนวงโคจรและยานลงจอด) สามารถถ่ายภาพเงาของดวงจันทร์โฟบอสเคลื่อนที่ผ่านได้ หรือ ปี 1999 ยาน Mars Global Surveyor สามารถถ่ายภาพเงาของดวงจันทร์โฟบอสบนพื้นผิวของดาวอังคารได้ เป็นต้น
นักวิทยาศาสตร์ใช้การสังเกตการณ์อุปราคาบนดาวอังคารเพื่อคาดคะเนวงโคจรของดวงจันทร์ทั้งสองให้มีความละเอียดและแม่นยำยิ่งขึ้น นักดาราศาสตร์คาดว่าดวงจันทร์ทั้งสองน่าจะเกิดมาจากพื้นผิวของดาวอังคารเองแต่ถูกพุ่งชนโดยอุกกาบาตจนหลุดลอยออกมานอกดาวอังคารเมื่อหลายพันล้านปีก่อน และยังคงโคจรลักษณะนี้ต่อไปเรื่อย ๆ และคาดการณ์ว่าดวงจันทร์โฟบอสจะชนกับดาวอังคารในอีก 50 ล้านปีข้างหน้า
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech