ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบพบ : เพจเฟซบุ๊กใช้ภาพเก่าอ้างภาพ VAR บอลไทย-ฟิลิปปินส์


Verify

3 ม.ค. 68

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ตรวจสอบพบ : เพจเฟซบุ๊กใช้ภาพเก่าอ้างภาพ VAR บอลไทย-ฟิลิปปินส์

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2109

ตรวจสอบพบ : เพจเฟซบุ๊กใช้ภาพเก่าอ้างภาพ VAR บอลไทย-ฟิลิปปินส์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Thai PBS Verify พบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กโพสต์ภาพ VAR อ้างเป็นภาพจังหวะปัญหาก่อนได้ประตูของทีมชาติไทย ในการแข่งขันฟุตบอลอาเซียนคัพ 2024 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.67 แต่จากการตรวจสอบแล้วพบว่า ภาพดังกล่าวเป็นการนำภาพ VAR จังหวะปัญหาของทีมชาติญี่ปุ่นที่พบกับทีมชาติสเปน ในศึกฟุตบอลโลกเมื่อปี 2565 มาโพสต์ ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก

แหล่งที่มา : Facebook

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโพสต์จากผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่โพสต์ภาพเท็จ

กระบวนการตรวจสอบ

Thai PBS Verify พบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ "Doo volleyball v.12" โพสต์ภาพ เสกสรรค์ ราตรี ในจังหวะวิ่งไปเปิดบอลสุดเส้น ในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศ อาเซียน คัพ 2024 เลก 2 ที่ทีมชาติไทย ชนะ ฟิลิปปินส์ 3-1 พร้อมกับภาพของ Video assistant referee หรือ VAR โดยระบุข้อความว่า "ภาพเต็มมาแล้ว สบายใจได้ ใสสะอาดแน่นอน 1-0"

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบของ Thai PBS Verify ด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens เราพบว่า ภาพที่ถูกนำมาเปรียบเทียบดังกล่าว เป็นภาพ VAR ของประตูชัยในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ระหว่าง ทีมชาติญี่ปุ่น ที่เอาชนะ ทีมชาติสเปน ไปได้ 2 ต่อ 1 ประตู เมื่อปี 2022

ภาพ VAR การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ระหว่างทีมชาติญี่ปุ่น-ทีมชาติสเปน เมื่อ 2 ธันวาคม 2022

เรายังพบภาพดังกล่าวในเว็บไซต์อื่น ๆ อีกด้วย เช่น นี่ , นี่ และ นี่

นอกจากนี้เมื่อตรวจสอบภาพอย่างละเอียดจะพบว่า มีจุดสังเกตอีกหลายจุดที่บ่งบอกว่า ภาพดังกล่าวถูกนำมาใช้แอบอ้าง ไม่ว่าจะเป็นกางเกงที่สีไม่ตรงกันกับภาพของนักเตะทีมชาติไทย และถุงเท้าในภาพ ที่ปรากฏสัญลักษณ์และตรงกับชุดแข่งขันฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นเมื่อปี 2565 อย่างชัดเจน

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงสัญลักษณ์ที่ถุงเท้าของภาพจากโพสต์เท็จ (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ ชุดการแข่งขันของทีมชาติญี่ปุ่นเมื่อปี 2022  (ขวา)

ภาพขวามือจากเว็บไซต์ adidas.co.th

ส่วนภาพที่ถูกนำมาโพสต์นั้น เป็นจังหวะที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อนที่ พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี จะยิงประตูเข้าไป ได้มีจังหวะที่ เสกสรรค์ ราตรี วิ่งไปตวัดบอลเข้ามา ซึ่งหากดูมุมกล้องที่ถ่ายทอดสด จะคล้ายกับลูกฟุตบอลได้ออกเส้นหลังไปแล้ว ซึ่งจังหวะดังกล่าวผู้ตัดสินได้เช็กวีเออาร์ที่เผยให้เห็นภาพจากมุมด้านบนว่า ลูกฟุตบอลยังไม่ออกจากเส้นเต็มใบ จึงได้ให้ประตูกับทีมชาติไทย โดยการแข่งขันในนัดนี้ ทีมชาติไทย เอาชนะ ฟิลิปปินส์ 3-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ ด้วยสกอร์รวมสองนัด 4-3 ทำให้ ไทย ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ไปพบ เวียดนาม ในรอบชิงชนะเลิศ ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2024 ส่วน ฟิลิปปินส์ ตกรอบ

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

โพสต์ดังกล่าว ถือว่ามีผู้สนใจส่งข้อความสอบถามจำนวนมาก โดยมีผู้กดถูกใจกว่า 17,000 คน รวมถึงส่งข้อความเข้าไปแสดงความคิดเห็นมากกว่า 2,600 ครั้ง และแชร์ข้อมูลเท็จนี้ไปถึง 276 ครั้ง โดยผู้ที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าวพบว่า มีทั้งผู้ที่ทราบว่าภาพที่ถูกนำมาโพสต์เป็นภาพปลอม และอีกจำนวนมากกลับไม่ทราบว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพปลอมแต่อย่างใด

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงข้อความของผู้ที่ไม่ทราบบางส่วนที่เชื่อว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพจริง

ยืนยันภาพที่นำมาใช้ไม่ใช่ VAR ในการแข่งขันของทีมชาติไทย

ธนิต เอิบสุข ผู้สื่อข่าวกีฬา สถานีโทรทัศน์ Thai PBS

เรานำภาพดังกล่าวไปสอบถามกับ ธนิต เอิบสุข ผู้สื่อข่าวกีฬา สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ซึ่งยืนยันว่า ภาพที่ถูกนำมาใช้ในโพสต์ดังกล่าว เป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อปี 2022 ระหว่างทีมชาติญี่ปุ่น กับ ทีมชาติสเปน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันระหว่าง ทีมชาติไทย และ ทีมชาติฟิลิปปินส์ ในอาเซียน คัพ ครั้งนี้แต่อย่างใด และภาพ VAR ที่ใช้ในการแข่งขันคู่ระหว่างทีมชาติไทย และ ทีมชาติฟิลิปปินส์ นั้น ก็ไม่ได้มีมุมกล้องในลักษณะนั้นแต่อย่างใด ซึ่งภาพดังกล่าวถือเป็นเทคโนโลยีในฟุตบอลโลก

ภาพขาของผู้เล่นในภาพดังกล่าวคือ คาโอรุ มิโตมะ ที่กำลังส่งบอลไปให้กับ อาโอะ ทานากะ ยิงประตูทีมชาติสเปน ไม่ใช่ภาพของ เสกสรรค์ ราตรี แต่อย่างใด

ทั้งนี้ภาพ VAR ที่ใช้ในประเทศไทยและในอาเซียน ถือว่ายังมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่เทียบเท่ากับเทคโนโลยีที่ใช้ในฟุตบอลโลก โดยภาพ VAR ที่ถูกนำมาใช้ล่าสุดเป็นภาพจากมุมระนาบตรง จากกล้องที่ตั้งอยู่บนอัฒจันทร์ แต่ภาพที่ได้จากมุมของอัฒจันทร์ก็ยังสามารถที่จะเห็นได้ว่า จังหวะที่เป็นปัญหานั้น ลูกบอลยังคงออกไปไม่เต็มใบ และยังคงมีบางส่วนที่อยู่ในเส้น VAR จึงไม่ได้มีการแจ้งไปยังผู้ตัดสินให้มีการตรวจสอบ และยืนยันให้ลูกดังกล่าวเป็นประตู

อย่างไรก็ตามคาดว่าการที่นำภาพดังกล่าวมาลงในเพจ อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยอดไลก์ โดยเฉพาะช่วงที่กำลังมีการแข่งการฟุตบอลอยู่ ส่วนหนึ่งคือแฟนบอลที่รับชมก็ไม่ได้นำภาพดังกล่าวไปตรวจสอบ ซึ่งหากดูจากสีถุงเท้าก็สามารถบ่งบอกได้เบื้องต้นแล้วว่า ไม่ใช่ชุดของทีมชาติไทย หรือดูจากรองเท้าของ เสกสรรค์ ราตรี กับรองเท้าในภาพก็จะพบว่าเป็นคนละคู่ แต่บางทีประชาชนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารฟุตบอล ก็อาจจะหลงเชื่อเมื่อเห็นภาพเหล่านี้ได้

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

ทั้งนี้เมื่อเราพบโพสต์ที่สงสัยว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ง่าย ๆ ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : ตรวจสอบภาพผ่านเครื่องมือค้นหา (ทดสอบด้วยเครื่องมือ Google)

เลือกรูปที่จะทำการตรวจสอบ คลิกขวาที่รูปภาพ แล้วเลือกเครื่องมือตรวจสอบภาพด้วย Google Lens

กดเลือกภาพที่ต้องการตรวจสอบ และคลิกขวาเลือกเครื่องมือค้นหาด้วย Google Lens

ขั้นตอนที่ 2 : ตรวจสอบผลลัพธ์

ผลลัพธ์จะแสดงให้เห็นว่าภาพที่ต้องการตรวจสอบนั้น ซ้ำกับภาพของเว็บไซต์อื่น ๆ หรือไม่

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงผลลัพธ์การค้นหาภาพด้วย Google Lens
ด้วยการตรวจสอบง่าย ๆ เพียงเท่านี้ เราก็จะทราบว่าภาพที่ถูกแชร์ หรือส่งต่อมานั้น เป็นภาพของจริง หรือเป็นภาพที่ถูกแอบอ้าง เพื่อที่จะไม่หลงเชื่อ แชร์ หรือ กดไลก์ ข้อมูลผิด ๆ เหล่านี้ต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฟุตบอลทีมชาติไทยฟุตบอลฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนข่าวปลอมภาพปลอมหลอกลวงหลอกคลิกทีมชาติไทยฟิลิปปินส์
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด