แน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง ! หากเราไม่ “ตัดผม” และ “ตัดเล็บ” ทั้งคู่จะยาวขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น หลายคนจึงนิยมตัดผม - เล็บเป็นประจำ แต่หากสังเกตจะพบว่าบางคน “เล็บยาว” และ “ผมยาว” เร็วมาก ทำไม ? จึงเป็นเช่นนั้นกันนะ Thai PBS Sci & Tech หาคำตอบมาให้แล้ว
“ผมและเล็บ” เกิดจากอะไร ?
สำหรับผมและเล็บส่วนใหญ่นั้นสร้างจาก “เคราติน” (keratin : เส้นใยโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เอง ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างสำคัญของผิวหนัง, เล็บ, ขน และเส้นผมมนุษย์) โดยทั้งคู่จะเจริญเติบโตจากเซลล์เมทริกซ์ (Cell Matrix) ใต้ผิวหนังและเจริญเติบโตผ่านรูปแบบการแบ่งเซลล์ที่แตกต่างกัน
โดย “เล็บ” จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากเซลล์เมทริกซ์ใต้ผิวหนังบริเวณโคนเล็บ เซลล์เหล่านี้จะแบ่งตัวและผลักเซลล์เก่าให้เคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อเซลล์เก่าเจริญเติบโตเซลล์ใหม่จะเลื่อนไปตามฐานเล็บ ซึ่งเป็นบริเวณแบนราบใต้เล็บ มีลักษณะเป็นสีชมพูเนื่องจากมีเลือดไปเลี้ยงมาก
ส่วน “เส้นผม” จะเริ่มงอกออกมาจากเซลล์เมทริกซ์ ก่อนกลายเป็นส่วนที่มองเห็นได้ของเส้นผม นั่นก็คือ “แกนผม” โดยแกนผมงอกออกมาจากรากผมที่อยู่ใต้ผิวหนังและห่อหุ้มอยู่ในถุงหรือที่เรียกว่า “รูขุมขน” ซึ่งมีเส้นเลือดและเส้นประสาทมาเลี้ยงจำนวนมาก (เหตุผลที่ดึงผมแล้วเจ็บ) นอกจากนี้ยังมีต่อมผลิตน้ำมันทำหน้าที่หล่อลื่นเส้นผม และมีกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ที่ทำให้ผมตั้งขึ้นเมื่ออากาศเย็น
บริเวณฐานของรูขุมขนจะมี Dermal papilla ซึ่งสำคัญมาก เนื่องจากทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงรูขุมขน ขณะที่เซลล์เมทริกซ์ที่อยู่ใกล้กับ Dermal papilla จะแบ่งตัวเพื่อสร้างเซลล์ผมใหม่ซึ่งจะแข็งตัวและสร้างแกนผม เมื่อเซลล์ผมใหม่ถูกสร้างขึ้น เส้นผมจะถูกดันขึ้นไปเหนือผิวหนังและเส้นผมก็จะเติบโต
นอกจากนี้ Dermal papilla ยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมวงจรการเจริญเติบโตของเส้นผม โดยส่งสัญญาณไปยัง เซลล์ต้นกำเนิดเพื่อเคลื่อนตัวไปที่ฐานของรูขุมขนและสร้างเมทริกซ์ของเส้นผม จากนั้นเซลล์เมทริกซ์จะส่งสัญญาณเพื่อแบ่งตัวและเริ่มระยะการเจริญเติบโตใหม่
แล้วอะไร ? ส่งผลต่อความเร็วในการเติบโตของ “ผม” และ “เล็บ”
Michelle Moscova ซึ่งเป็น Adjunct Associate Professor สาขาวิชากายวิภาคศาสตร์ University of New South Wale ให้ความรู้ว่า “พันธุกรรม” เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตของเส้นผมจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไปแล้วสมาชิกในครอบครัวจะมีความสม่ำเสมอกัน ขณะที่เล็บก็ได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรมเช่นเดียวกัน หากเป็นพี่น้องโดยเฉพาะ “ฝาแฝด” มักจะมีอัตราการเจริญเติบโตของเล็บที่ใกล้เคียงกัน แต่ทั้งนี้ก็มีอิทธิพลอื่น ๆ ที่เป็นตัวแปรด้วย เช่น “อายุ” ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผมและเล็บแม้แต่ในคนที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยคนอายุน้อยมักจะมีอัตราการเติบโตที่เร็วกว่า เนื่องจากการเผาผลาญและการแบ่งเซลล์ที่ช้าลงตามวัย
ส่วนการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก็อาจส่งผลกระทบ โดยการตั้งครรภ์มักเร่งอัตราการเจริญเติบโตของเส้นผมและเล็บ ในขณะที่วัยหมดประจำเดือนและระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่สูงจากความเครียด อาจทำให้การเจริญเติบโตช้าลง
นอกจากนี้โภชนาการที่เปลี่ยนแปลง ก็สามารถส่งผลไปยังความแข็งแรงและอัตราการเจริญเติบโตของเส้นผมและเล็บได้ เพราะแม้ว่าเส้นผม - เล็บจะประกอบด้วยเคราตินเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีน้ำ ไขมัน และแร่ธาตุต่าง ๆ ด้วย เมื่อเส้นผมและเล็บเติบโตอย่างต่อเนื่อง แร่ธาตุเหล่านี้ก็จำเป็นต้องได้รับการทดแทนเช่นกัน
ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีสารอาหารเพียงพอจึงมีความจำเป็น ในการรักษาสุขภาพช่วยบำรุงผม - เล็บให้เติบโตแข็งแรง เพราะการขาดสารอาหาร เช่น ขาดธาตุเหล็ก - สังกะสีอาจทำให้ผมร่วงและเล็บเปราะได้ เนื่องจากไปขัดขวางวงจรการเจริญเติบโตหรือทำให้โครงสร้างเล็บอ่อนแอลงนั่นเอง
ซึ่งนี่อาจเป็นคำตอบที่ใช้อธิบายว่า ทำไม ? คนที่ผมหนา - มีเล็บแข็งแรง มักต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ซึ่งเชื่อมโยงกับการมีสุขภาพที่ดีของคนคนนั้นด้วย
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : sciencealert
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech