ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เหตุใดการขับรถพุ่งชน จึงกลายเป็นการโจมตีที่คาดไม่ถึง


Insight

3 ม.ค. 68

พีรชัย พสุทันท์

Logo Thai PBS
แชร์

เหตุใดการขับรถพุ่งชน จึงกลายเป็นการโจมตีที่คาดไม่ถึง

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2118

เหตุใดการขับรถพุ่งชน จึงกลายเป็นการโจมตีที่คาดไม่ถึง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ระหว่างเทศกาลคริสต์มาสจนถึงวันขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุรถพุ่งชนมวลชนในเมืองมัคเดอบวร์ก (Magdeburg) ประเทศเยอรมนี และเมืองนิว ออร์ลีนส์ (New Orleans) ประเทศสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์รถพุ่งชนทั้งสองทำให้มีผู้เสียชีวิต 19 คน และผู้บาดเจ็บรวมกันอีกกว่า 260 คน 

บทความจากวารสาร URBAN DESIGN International ะบุว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2565 เกิดเหตุรถพุ่งชนคนครั้งใหญ่อย่างน้อย 62 ครั้ง และคาดว่าแนวโน้มที่จะเกิดเหตุรุนแรงเช่นนี้จะยังคงเพิ่มขึ้นทั่วโลก

“ความสะดวกและง่ายดาย” คือปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการขับรถพุ่งชน

การโจมตีโดยการขับรถพุ่งชน (Vehicle-ramming attack หรือ vehicle as a weapon) ครั้งแรกที่มีการบันทึกนั้นย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) หญิงสาวคนหนึ่งตั้งใจขับรถพุ่งชนคนเดินถนนในกรุงปราก (Prague) ประเทศเชโกสโลวะเกีย เนื่องจากปัญหาทางจิตและความไม่พอใจของตนต่อสังคม หลายทศวรรษต่อมา กลุ่มก่อการร้ายเริ่มใช้วิธีการขับรถพุ่งชนคนและการโจมตีด้วยมีดมากขึ้น 

วิธีการเหล่านี้มีพื้นฐานจากแนวคิด “หมาป่าเดียวดาย (lone wolf)” หมายความว่า ใช้ผู้ก่อเหตุเพียงหนึ่งคนและอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย แต่สร้างความหวาดกลัวและส่งสารเชิงอุดมการณ์ของกลุ่มออกไปได้ในวงกว้าง นอกจากนี้ การขับรถพุ่งชนยังเป็นพฤติการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ พร้อมทั้งเลี่ยงการสอดส่องจากผู้บังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานความมั่นคงได้เมื่อเทียบกับการลอบวางระเบิดแสวงเครื่องในรถยนต์ (หรือคาร์บอม) ที่ต้องพึ่งพาพาหนะเช่นกัน 

ผู้ก่อเหตุมักจะเลือกย่าน ทางเท้า หรือถนนที่มีคนสัญจรชุกชุม และ/หรือลงมือในช่วงเทศกาลสำคัญ จึงสร้างความสูญเสียเป็นจำนวนมาก เช่น การขับรถบรรทุกพุ่งชนฝูงชนในงานวันชาติฝรั่งเศสที่ เมืองนีซ (Nice) เมื่อปี พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) มีผู้เสียชีวิต 86 คน และบาดเจ็บ 434 คน เหตุการณ์รถพุ่งชนคนบนทางจักรยานในนครนิวยอร์ก (New York) ในปีถัดมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม 20 คน หรือการโจมตีตลาดคริสต์มาสครั้งล่าสุดในเมืองมัคเดอบวร์ก มีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บนับร้อยชีวิต

แรงจูงใจอื่น ๆ เบื้องหลังเหตุขับรถพุ่งชนนอกเหนือจากการก่อการร้าย

แม้เหตุขับรถพุ่งชนคนมักจะเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย อย่างเช่นเหตุในเมืองนีซและนครนิวยอร์กที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State) แต่หลายครั้ง การโจมตีประชาชนด้วยการขับรถพุ่งชนก็อาจเกิดจากมูลเหตุอื่น ๆ เช่น กระแสขวาจัดและการต่อต้านผู้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา 

ในปี พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ชายผู้ฝักใฝ่ลัทธินีโอนาซีวัย 20 ปีได้ขับรถพุ่งชนกลุ่มผู้ประท้วงที่ออกมาต่อต้านกลุ่มเหยียดผิวและชาตินิยมคนขาวในเมืองชาร์ล็อตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย (Charlottesville, Virginia) จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 35 คน 3 ปีถัดมา เกิดเหตุขับรถพุ่งชนกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางสีผิวรวมกันถึง 66 ครั้งทั่วสหรัฐอเมริกา ในเวลานั้น กระแส Black Lives Matter (ชีวิตคนผิวดำสำคัญ) ได้กลับมาปะทุขึ้นท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หลังจากที่จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายชาวแอฟริกัน-อเมริกันถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวใช้ความรุนแรงในการจับกุมจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต 

นอกจากนี้ในประเทศอิสราเอลและเขตเวสต์แบงก์ (West Bank) ก็เกิดการโจมตีเช่นนี้อยู่บ่อยครั้งอันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล อย่างไรก็ตาม เหตุโจมตีด้วยการขับรถพุ่งชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองนั้นมีให้เห็นเพิ่มขึ้น 

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีเหตุขับรถพุ่งชนประชาชนถึง 2 ครั้งในประเทศจีน ครั้งแรกเกิดขึ้นที่เมืองจูไห่ (Zhuhai) ชายวัย 62 ปีไม่พอใจกับการหย่าร้างของตนเอง จึงลงมือก่อเหตุและทำให้มีผู้เสียชีวิต 35 คน ไม่กี่วันถัดมา ชายอีกคนขับรถพุ่งเข้าหานักเรียนและผู้ปกครองบริเวณโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในเมืองฉางเต๋อ (Changede) เนื่องจากคับแค้นใจต่อปัญหาทางการเงินและครอบครัว 

โศกนาฏกรรมทั้งสองในจีนแสดงให้เห็นว่า ความคับแค้นใจต่อชีวิตส่วนตัวและสังคมก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันคนธรรมดาให้ทำร้ายผู้อื่นอย่างที่เคยเกิดขึ้นในกรุงปราก ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 

แนวทางและความท้าทายต่อการป้องกันการขับรถพุ่งชน

การออกแบบเมืองเพื่อความปลอดภัยนั้นถูกพัฒนามาหลายทศวรรษ ช่วงทศวรรษที่ 1960 (พ.ศ. 2503-2512) นักเขียนและนักวิชาการด้านการศึกษาเมืองชาวอเมริกัน-แคนาเดียนนามว่า เจน จาคอบส์ (Jane Jabobs – ค.ศ. 1916-2006) ได้เสนอแนวคิด “หูตาบนถนน (eys on the street)” ซึ่งคำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยควบคู่กับการดูแลตรวจตราเมือง 

ปัจจุบันขณะที่เมืองใหญ่หลายแห่งทยอยปรับปรุงและเพิ่มทางเท้าเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นเหตุผลสำคัญ ความปลอดภัยต่อผู้เดินเท้าก็เข้ามาอยู่ในสมการการออกแบบด้วยหลังจากที่เกิดเหตุโจมตีด้วยการขับรถพุ่งชนมากขึ้นในช่วงสองทศวรรษหลัง

ตัวอย่างการออกแบบม้านั่งเสริมคอนกรีตเพื่อใช้เป็นแบร์ริเออร์ป้องกันรถชนในตัวใจกลางจัตุรัสไทม์สแควร์ นครนิวยอร์ก (ภาพโดย Michael Grimm)

ดังตัวอย่างในนครนิวยอร์ก มีการติดตั้งแผงกั้นเหล็ก บล็อกคอนกรีตขนาดใหญ่ และเสากีดขวางในย่านสำคัญ อีกทั้งกรมตำรวจนิวยอร์ก (NYPD) และคณะกรรมาธิการการออกแบบสาธารณะแห่งนครนิวยอร์ก (The New York City Public Design Commission หรือ PDC) ยังคงหาแนวทางการออกแบบอื่น ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์บนท้องถนน ม้านั่งเสริมคอนกรีต และกลยุทธ์การออกแบบทัศนียภาพเพื่อให้การป้องกันภัยจากรถพุ่งชนกลมกลืนไปกับหน้าตาของเมืองมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ล่าสุดในเมืองนิว ออร์ลีนส์ที่ผู้ก่อเหตุใช้ช่องทางเฉพาะรถฉุกเฉินและสามารถขับรถอ้อมสิ่งกีดขวางได้นั้น ก็ทิ้งคำถามถึงผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้ออกแบบเมืองต่อไปว่า ต้องใช้วิธีการใดเพิ่มเติมเพื่อขจัดภัยคุกคามจากการขับรถพุ่งชนในอนาคต

ครดิตภาพปกEbrahim Noroozi/AP Photo

อ้างอิง

  • aa.com.tr
  • aljazeera.com
  • newsroom.ap.org
  • nytimes.com
  • reuters.com

แท็กที่เกี่ยวข้อง

การก่อการร้ายการขับรถพุ่งชนคนสหรัฐอเมริกาจีนเยอรมนีการออกแบบเมืองพื้นที่และการออกแบบ
พีรชัย พสุทันท์
ผู้เขียน: พีรชัย พสุทันท์

ศิษย์เก่าจากอักษร จุฬาฯ และโปรแกรมอีราสมุส มุนดุสด้านวรรณกรรมยุโรป ผู้ชอบพาตัวเองไป (หลง) อยู่ในกระแสธารของพหุภาษาและพหุวัฒนธรรม และยังคงเรียนรู้ที่จะเติบโตในทุก ๆ วัน I porrorchor.com

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด