ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกฤตประชากร คนเกิดน้อย-คนสูงวัยอายุยืน ระเบิดเวลาลูกใหญ่ของญี่ปุ่น


รอบโลก

3 ม.ค. 68

ศุภิสรา พงษ์พ้นภัย

Logo Thai PBS
แชร์

วิกฤตประชากร คนเกิดน้อย-คนสูงวัยอายุยืน ระเบิดเวลาลูกใหญ่ของญี่ปุ่น

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2111

วิกฤตประชากร คนเกิดน้อย-คนสูงวัยอายุยืน ระเบิดเวลาลูกใหญ่ของญี่ปุ่น
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

โลกที่ค่อย ๆ ขับเคลื่อนไปข้างหน้า นำพาความเจริญ ความสะดวกสบายและการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่เข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง แต่สิ่งที่หลายคนอาจหลงลืมไปก็คืออายุของเราที่เพิ่มขี้นอย่างไม่เคยรอใคร และกลุ่มผู้สูงวัยอายุมากกว่า 60 ปีกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

ปัจจุบันประเทศที่นับว่ามีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกคือญี่ปุ่น ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้นอย่างรวดเร็ว หรือ Super-Aged Society ประชากรของประเทศที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวน 36.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 28.7 ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง และภายในปี 2036 ประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะครองสัดส่วนเป็นหนึ่งในสามของประชากรทั้งประเทศ

อัตราการแต่งงานลด-อัตราการเกิดต่ำ

บทความจาก รัฐสภายุโรป หรือ European Parliament เมื่อปี 2020 ระบุว่า อัตราการเจริญพันธุ์ หรือ ค่าเฉลี่ยการมีลูกของผู้หญิง 1 คน ในญี่ปุ่นเริ่มลดลงในช่วงทศวรรษ 1970 และแตะระดับต่ำสุดในปี 2005 อัตราดังกล่าวสูงขึ้นเล็กน้อยและกลับมาลดลงอีกครั้งในปี 2016 จากการเพิ่มขึ้นของอายุของประชาชนเมื่อแต่งงานครั้งแรก (Age at First Marriage) และการลดลงของอัตราการแต่งงาน

ครอบครัวชาวญี่ปุ่น ภาพจาก AFP

เมื่อปี 2015 สัดส่วนของประชาชนที่ไม่ได้แต่งงานอายุ 50 ปี ทำสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ร้อยละ 23.4 สำหรับผู้ชาย และร้อยละ 14.1 สำหรับผู้หญิง นำไปสู่อัตราการเกิดต่ำลง ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้แนวโน้มดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นจากจำนวนการตั้งครรภ์ที่ได้รับแจ้งในช่วง 3 เดือนจนถึงเดือนกรกฎาคมปี 2020 ลดลงร้อยละ 11.4 จากปีก่อนหน้า ขณะที่จำนวนการแต่งงานในช่วงเวลาเดียวกันลดลงร้อยละ 36.9

ญี่ปุ่นในวังวนวิกฤตประชากร

ชั่วโมงการทำงานอันยาวนาน การแข่งขันสูงในการทำงาน ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกและค่าครองชีพสูงล้วนเป็นปัจจัยทำให้การแต่งงานในญี่ปุ่นลดลงจนทำให้อัตราการเกิดของประชากรน้อยลงเป็นเงาตามตัวส่งแรงกระเพื่อมหลากหลายมิติไม่ว่าจะเป็นด้านประชากรหรือด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเติมเต็มตลาดแรงงานมีจำนวนลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุในปัจจุบัน จนสร้างความไม่สมดุลของสัดส่วนประชากรในประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้นการขาดแคลนตลาดแรงงานคือวิกฤตเศรษฐกิจและความท้าทายด้านงบประมาณ แม้ว่าญี่ปุ่นจะขึ้นชื่อในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างหุ่นยนต์ เพื่อรับมือกับการลดลงของประชากรวัยแรงงานและดูแลผู้สูงอายุ แต่ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขวิกฤตประชากรครั้งนี้ก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จ ตามเป้าหมายที่วางไว้

สำนักงานแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภาพจาก AFP

เมื่อปี 2020 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่า การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุและการลดลงของแรงงาน ทำให้การคลังประสบภาวะตึงตัวจนอาจรองรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว เนื่องจากทางการต้องจ่ายเงินให้ผู้สูงอายุทั้งค่ารักษาพยาบาลและเงินบำนาญ เป็นต้น

นอกจากนี้ อี้ ฟูเซียน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ในสหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตว่า การขาดแคลนประชากรวัยแรงงานส่งผลให้ผลผลิตลดลง นอกจากนี้ยิ่งมีประชากรผู้สูงอายุมากเท่าไร สัดส่วนเงินออมของญี่ปุ่นก็จะลดลงมากเท่านั้น

GDP ของญี่ปุ่นอาจไม่ได้เติบโตอย่างโดดเด่นและมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม รายงานของ Deloitte บริษัทผู้ให้บริการทางการเงิน ระบุว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นสามารถเติบโตต่อไปได้ แม้ว่ารูปแบบการเติบโตจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงขึ้นแท่นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศ G7 โดยมี GDP ประมาณ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์

ส่องแนวทางแก้ปัญหาฉบับญี่ปุ่น

โรเบิร์ต เฟลด์แมน หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ Morgan Stanley บริษัทผู้ให้บริการทางการเงิน เปิดเผยว่า วิกฤตสังคมสูงวัยกำลังสร้างความวิตกกังวลในตลาดแรงงานญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ทางการญี่ปุ่นตระหนักถึงวิกฤตที่เกิดขึ้น และหาแนวทางในการแก้ปัญหาตลาดแรงงานในปัจจุบัน ด้วยการผลักดันนโยบายเปิดรับแรงงานชาวต่างชาติมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ 

โดยในปีนี้ญี่ปุ่นเปิดรับถึง 2 ล้านคน และมีแผนจะเปิดรับเพิ่มขึ้นอีก 800,000 คนในอีก 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากการอ้าแขนรับแรงงานต่างชาติจะช่วยชดเชยการลดลงของจำนวนประชากรในทศวรรษหน้า นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นก็กำลังดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ในเบื้องต้น ดังนี้

1. การทำงาน 
รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้นายจ้างสามารถจัดหาลูกจ้างที่มีอายุถึง 70 ปีได้ และเปิดทางให้บริษัทขยายอายุเกษียณ เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างสำหรับผู้สูงอายุได้

2. สวัสดิการและสุขภาพ 
รัฐบาลปรับปรุงการบริการผู้สูงอายุที่เชื่อมโยงกับการรักษาพยาบาลเพื่อสร้างระบบให้คนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงการดูแลในระยะยาวได้ ด้านคณะรัฐมนตรีส่งเสริมนโยบายการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและพัฒนาผู้ป่วยโรคนี้ด้วย

3. ที่อยู่อาศัย 
รัฐบาลมีมาตรการสร้างที่อยู่อาศัย ระบบขนส่งสาธรณะและสิ่งอำนวยความสะดวกในที่สาธารณะ ทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น  

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรับมือวิกฤตประชากรในแบบฉบับญี่ปุ่นควบคู่ไปกับการโอบรับผู้สูงวัยให้หลอมรวมกับสังคม

อ้างอิง 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ญี่ปุ่นสังคมผู้สูงอายุประชากรสูงวัยSuper-Aged Society
ศุภิสรา พงษ์พ้นภัย
ผู้เขียน: ศุภิสรา พงษ์พ้นภัย

นักศึกษาฝึกงาน Thai PBS World สาวใต้ตัวจี๊ดที่ชื่นชอบเรื่องราวรอบโลก และการแชร์เรื่องราวต่อเป็นสิ่งที่ใจรัก

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด