ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ใช้ AI ตรวจมะเร็ง ! วิเคราะห์ DNA จากเลือด อาจช่วยพบมะเร็ง 6 ชนิดตั้งแต่ระยะแรก


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

10 ม.ค. 68

พีรชัย พสุทันท์

Logo Thai PBS
แชร์

ใช้ AI ตรวจมะเร็ง ! วิเคราะห์ DNA จากเลือด อาจช่วยพบมะเร็ง 6 ชนิดตั้งแต่ระยะแรก

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2149

ใช้ AI ตรวจมะเร็ง ! วิเคราะห์ DNA จากเลือด อาจช่วยพบมะเร็ง 6 ชนิดตั้งแต่ระยะแรก
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ในอนาคตเราอาจจะพบเนื้อร้ายได้เร็วกว่าเดิม หลังจากที่ทีมวิจัยอังกฤษเพิ่งผ่านขั้นทดลองการทดสอบหามะเร็งหลายชนิดผ่านดีเอ็นเอจากเลือด

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 68 กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) ได้ตีพิมพ์ผลการพัฒนานวัตกรรมตรวจวิเคราะห์เลือดที่ชื่อ TriOx ในขั้นต้น และค้นพบความเป็นไปได้ในการพบมะเร็ง 6 ชนิด ได้แก่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกจากดีเอ็นเอ (DNA :  สารพันธุกรรมที่ส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิตทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางพันธุกรรม มีลักษณะเป็นเกลียวคู่คล้ายบันไดเวียนอยู่ในไมโครโซมและไมโทรคอนเดรียของสิ่งมีชีวิต)

นวัตกรรม TriOx นั้นใช้การเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI : เอไอ) สาขาหนึ่งเข้ามาช่วยวิเคราะห์และทำนายโรคด้วย จากกลุ่มตัวอย่าง 91 คนที่รวมทั้งผู้ที่เป็นและไม่ได้เป็นมะเร็ง พบผู้ป่วย 56 จาก 59 คน คิดเป็นความไว (sensitivity : อัตราความแม่นยำในการตรวจพบโรคในผู้ที่ป่วยจริง) ร้อยละ 94.9 และความจำเพาะ (specificity : อัตราความแม่นยำในการตรวจไม่พบโรคในผู้ที่ไม่ป่วย) ร้อยละ 88.8

ศ. แอนนา ชู (Professor Anna Schuh) ผู้นำการวิจัยชิ้นนี้บอกกับ BBC ว่า หากเรามีเนื้อร้าย ดีเอ็นเอจากเนื้อร้าย (circulating tumour DNA หรือ ctDNA) นั้นจะปรากฏอยู่ในเลือดและสามารถย้อนไปถึงจุดที่เกิดมะเร็งได้ อีกทั้งชูยังกล่าวต่อว่า ต้องมีการฝึกฝนอัลกอริทึมที่ใช้ในการตรวจหาร่องรอยของ ctDNA เพิ่มเพื่อความแม่นยำมากขึ้น

แม้วิธีการตรวจเลือดในปัจจุบันจะช่วยหามะเร็งได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะวิเคราะห์จากโปรตีนในสารบ่งชี้มะเร็ง (cancer marker) เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม บทความจากวารสาร Clinical Chemistry เมื่อ 2 ปีก่อนระบุว่า ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพจากโปรตีน (protein biomarker) นั้นขาดความไวและมีความจำเพาะน้อย ขณะที่ดีเอ็นเอจากเนื้อร้ายหรือ ctDNA นั้นมีความแม่นยำมากกว่าในการตรวจหาการเกิดซ้ำของโรคตั้งแต่ระยะแรก (early disease recurrence)

ดร. ดิมิทริส วาวูลิส (Dr. Dimitris Vavoulis) ผู้นำการวิจัยร่วมกล่าวเสริมเกี่ยวกับงานวิจัยว่า แม้จะยังอยู่ในขั้นต้น แต่กลุ่มผู้วิจัยก็หวังว่าในอนาคตนั้น เพียงแค่เจาะเลือดครั้งเดียวก็สามารถตรวจหามะเร็งได้หลายชนิด อีกทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและแพทย์เริ่มการรักษาได้ก่อนที่โรคจะลุกลาม

อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

อ้างอิง

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

DNAAIปัญญาประดิษฐ์การวิจัยมะเร็ง
พีรชัย พสุทันท์
ผู้เขียน: พีรชัย พสุทันท์

ศิษย์เก่าจากอักษร จุฬาฯ และโปรแกรมอีราสมุส มุนดุสด้านวรรณกรรมยุโรป ผู้ชอบพาตัวเองไป (หลง) อยู่ในกระแสธารของพหุภาษาและพหุวัฒนธรรม และยังคงเรียนรู้ที่จะเติบโตในทุก ๆ วัน I porrorchor.com

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด