ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

‘โรคหลงตัวเอง’ กับพฤติกรรมที่เหนือกว่า ‘การโกหก’ จนทำร้ายคนได้


Thai PBS Care

31 มี.ค. 68

พีรชัย พสุทันท์

Logo Thai PBS
แชร์

‘โรคหลงตัวเอง’ กับพฤติกรรมที่เหนือกว่า ‘การโกหก’ จนทำร้ายคนได้

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2534

‘โรคหลงตัวเอง’ กับพฤติกรรมที่เหนือกว่า ‘การโกหก’ จนทำร้ายคนได้
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

1 เม.ย. ของทุกปี คนบนโลกโซเชียลจะ “โกหก” กันแบบไม่มีพิษภัยเพื่อสร้างสีสันใน ‘วันโกหกโลก (April Fool’s Day)’ แต่การโกหกหนึ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อทั้งตัวคนพูดและคนฟังในทุก ๆ วัน คือคำโกหกจากคนที่เป็น ‘โรคหลงตัวเอง’

มนุษย์ทุกคนต่างมีระดับความเชื่อมั่นในตัวเองต่างกันไป บางครั้ง หากคนเราโอ้อวดหรือมั่นใจในความคิดหรือการกระทำของตนมากเกินไป ก็อาจนับเป็น ‘ความหลงตัวเอง (narcissism)’ ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เมื่อใดที่บุคคลผู้หลงตัวเองนั้นเริ่ม “ทำร้าย” คนอื่น เช่น พูดจาดูถูกดูแคลน ประพฤติตัวยกตนข่มท่าน บีบบังคับคนรอบข้างให้ทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ นั่นคือสัญญาณของผู้ที่เป็น ‘โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบหลงตัวเอง (narcissistic personality disorder)’ หรือ ‘โรคหลงตัวเอง’

แม้การโกหกจะเป็นลักษณะหนึ่งของคนที่เป็นโรคหลงตัวเอง แต่หลายครั้ง คำโกหกของพวกเขานั้นมีชั้นเชิงและแนบเนียนเกินกว่าที่ผู้ฟังจะคาดถึง

นาร์ซิสซัส (Narcissus) ตัวละครจากตำนานกรีก สัญลักษณ์ของคนหลงตัวเอง วาดโดย Caravaggio (ภาพจาก: Gallerie Nazionali Barberini Corsini)

Gaslighting วิธีโกหกที่คนหลงตัวเองใช้ “ปั่นหัว” คนรอบข้าง

คนที่เป็นโรคหลงตัวเองอาจเป็นปุถุชนทั่ว ๆ ไป หรือคนที่มีเสน่ห์โดดเด่นและดูน่าคบหา คนกลุ่มนี้รู้ว่าจะต้องบงการคนรอบข้างเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการผ่านการโกหก การหลอกลวง การโน้มน้าว หรือแม้แต่การอวยยศประจบประแจง อีกทั้งพวกเขาเชื่อว่า ตัวเองโกหกเก่งและมีความสามารถในการแยกความจริง-ความลวงมากกว่าคนปกติทั่วไป แต่ที่เหนือขั้นกว่าการโกหกนั้น คือคนที่เป็นโรคหลงตัวเองจะ “สร้างและรักษาความ (เป็น) จริงในเวอร์ชันของตัวเอง” พร้อมทั้งบิดเบือนข้อมูลและสร้างความเข้าใจผิดต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของตน

‘Gaslighting’ เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งคนที่เป็นโรคหลงตัวเองใช้บิดเบือนความเป็นจริง โดยคำว่า gaslighting นั้น มาจากบทละครเวทีอังกฤษเรื่องหนึ่งในปี ค.ศ. 1938 ชื่อ ‘Gas Light’ ในเรื่อง สามีพยายามกล่อมภรรยาว่า เธอเสียสติจนมโนเห็น “แสงสลัวจากตะเกียง” กับได้ยินเสียงเอะอะในบ้านยามค่ำคืนไปเอง แต่แท้จริงแล้ว ผู้เป็นสามีจุดตะเกียงและแอบหาสมบัติของป้าภรรยาภายในบ้านทุกคืน วงการจิตวิทยาจึงมีคำกริยา ‘gaslight’ ที่หมายถึง การหลอกปั่นหัวจนทำให้ผู้อื่นสงสัยว่า ความคิดของตนนั้นถูกต้องหรือไม่

ภาพยนตร์เรื่อง 'Gaslight' เวอร์ชันอเมริกันเมื่อปี ค.ศ.1944 เล่าเรื่องราวของสามีผู้ปั่นหัวภรรยาของตัวเอง (ภาพจาก: MoMA)

ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา ขยายความคำว่า ‘gaslighting’ ในพอตแคสต์โรงหมอว่า คนที่เป็นโรคหลงตัวเองมักจะปั่นหัวผู้อื่นโดยเฉพาะตอนที่ตัวเองทำผิด “เวลาเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้น เขาจะบอกว่า ไม่ใช่เขา ตัวเองไม่เคยผิด แล้วเขาจะโทษคนอื่นกับแต่งเรื่องว่า คนอื่นผิดอย่างไร สมมติ ผมมีนัดตอน 10 โมง ผม [เป็นฝ่าย] มาช้า ตามมารยาททางสังคมคนที่ไม่ถูกต้องคือผมใช่ไหมครับ แต่ผมอาจจะบอก [อีกฝ่าย] ว่า ‘เป็นเพราะพี่นัดเช้าเกินไป พี่มั่นใจได้อย่างไรว่าตนเองถูก’” ดร.สุววุฒิ ยกตัวอย่าง

การอยู่ใกล้ผู้ที่เป็นโรคหลงตัวเองนั้นบ่อนทำลายสุขภาพกายใจของคนรอบข้าง ซ้ำทำให้ความมั่นใจและความเคารพในตัวเอง (self-esteem) ต่ำลง อย่างไรก็ตาม คนหลายคนยังมีแฟนจอมบงการหรือเลือกคบหาสมาคมกับผู้ที่เป็นโรคหลงตัวเอง เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าและเปล่าเปลี่ยว จนต้องโหยหา “ไอดอล” หรือใครสักคนมาอุ้มชูเขา เมื่อคนหลงตัวเองจะเป็น “ใครคนนั้น” เข้าไปในชีวิตของผู้ที่เคว้งคว้างไร้จุดหมาย ทุกอย่างจึงเข้าล็อกตามคอนเซปต์ “โฟลีอาเดอ (folie à deux – ความบ้าของเราสอง)” กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์จากการบงการ ส่วนอีกฝ่ายยอมสละทุกอย่างเพื่อให้มีใครสักคน

ความรู้ (เท่า) ทันคนหลงตัวเองและคำโกหก

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา วงการจิตวิทยาพยายามศึกษาว่า มนุษย์ “โกหกจนเป็นโรคหลงตัวเอง” หรือ “เป็นโรคหลงตัวเองจนขี้โกหก” อย่างไรก็ดี คำตอบที่ได้ ณ ขณะนี้อาจไม่ต่างจากการสืบว่า “ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน” บทความวิจัย 2 ชิ้นจากวารสาร Psychiatry, Psychology and Law เมื่อปี ค.ศ. 2020 และ Sage Open เมื่อ 3 ปีก่อนนั้น ชี้ให้เห็นว่าโรคหลงตัวเองกับการโกหกนั้น “สัมพันธ์กัน” แต่ไม่ได้ระบุว่า ทิศทางความสัมพันธ์และความเป็นเหตุเป็นผลระหว่าง 2 สิ่งนี้เป็นอย่างไร

แต่สิ่งที่เรารู่แน่ชัดเกี่ยวกับคนที่เป็นโรคหลงตัวเองก็คือ แม้พวกเขาจะมีความรู้สึกและพฤติกรรมยกตนข่มท่าน ทั้งยังชอบแสวงหาผลประโยชน์จาก (ความลำบากของ) คนอื่น แต่ลึก ๆ แล้ว พวกเขาขาดความมั่นใจและความเคารพตัวเอง (self-esteem) และกลัวที่จะเปิดเผยความอ่อนแอออกมา นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้ที่เป็นโรคหลงตัวเองถึงไม่เข้าใจตนเองและไม่ยอมไปรับการบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญ

“คนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเองจะไม่คิดว่าตัวเองคือตัวปัญหา เพราะโดยพื้นฐาน เขาจะรู้สึกว่าตัวเขาดีอยู่แล้ว คนอื่นต่างหากที่มันผิดปกติ” ดร.สุววุฒิ อธิบาย “พอชี้ไปที่คนอื่นปั๊บ เขาก็จะคิดว่า ‘ไปหาจิตวิทยาทำไม’ ข้อที่สองคือ ตัวเขาอาจจะไม่มั่นใจว่า เมื่อมาพบนักจิตวิทยา จะเจอกับอะไรบ้าง จะโดนจับไต๋ โดนโน้มน้าว หรือโดนชี้นิ้วว่า ‘คุณนั่นแหละผิดปกติ’ หรือเปล่า เพราะว่าเขาไม่ได้กำลังปะทะกับคนธรรมดา แต่คุยกับคนที่มีความรู้ทางจิตวิทยาครับ” 

แต่จิตใจมนุษย์นั้นลึกล้ำเกินกว่าจะหยั่งถึง บางครั้ง คนธรรมดาอย่างเรา ๆ ก็แยกไม่ออกหรือเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับคนหลงตัวเอง การเป็น “ผู้สังเกตการณ์ที่ดี” จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญเพื่อช่วยคัดกรองว่า จริง ๆ แล้วใครมีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร “ผมมีความเชื่อเสมอครับว่า เราจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘wisdom’ หรือปัญญาญาณอยู่ ปัญญาญาณจะเกิดขึ้นจากการสังเกตจนได้ข้อสรุปบางสิ่งและรู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร สมมติเห็นงูเห่า เราจะรู้ว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพิษ ดุร้าย โฉบเราตาย ไม่ควรเข้าใกล้” ดร.สุววุฒิ กล่าว

แม้จะฟังดูยาก แต่ “ปัญญาญาณ” ที่ดร.สุววุฒิพูดถึงนั้นสามารถฝึกกันได้เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนหลงตัวเอง เช่น หากสังเกตเห็นว่าใครเป็นโรคหลงตัวเอง ก็พยายามกำหนดขอบเขตการติดต่อสื่อสารหรือหลีกเลี่ยงการพบเจอกับคน ๆ นั้นให้ได้มากที่สุด หรือถ้าเกิดเจอเพื่อน (ร่วมงาน) ที่ชอบปัดความรับผิดชอบและโบ้ยความผิดเสมอ ควรเก็บหลักฐานและหาพยานไว้ทุกครั้ง นอกจากนี้ การขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ก็ช่วยให้เรามีความมั่นใจที่ถูกต้อง ไม่นำอัตตาของตนไปทำร้ายหรือถูกทำร้ายเพราะอัตตาของผู้อื่นได้

มนุษย์ทุกคนย่อมมีปมปัญหาในใจต่างกันไป และการมีความมั่นใจในตัวเองก็อาจช่วยบรรเทาปมนั้น ๆ ได้ แต่หากใครหลงเชื่อว่าตัวเอง “ถูกเสมอ” จนใช้ความมั่นใจและคำโกหกทำร้ายคนอื่น ท้ายที่สุดแล้ว คนที่ถูกทำร้ายมากที่สุดคือตัวเขาเองตามสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “the joke’s on them”
 

ติดตามเนื้อหาจากเครือ Thai PBS เกี่ยวกับ "จิตวิทยา" ที่อาจใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด

อ้างอิง

ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW

แท็กที่เกี่ยวข้อง

จิตวิทยาหลงตัวเองสุขภาพจิตgaslighting
พีรชัย พสุทันท์
ผู้เขียน: พีรชัย พสุทันท์

ศิษย์เก่าอักษร จุฬาฯ และโปรแกรมปริญญาโททุน EU ด้านวรรณกรรมยุโรปในฝรั่งเศสและกรีซ ผู้ชอบพาตัวเองไป (หลง) อยู่ในกระแสพหุวัฒนธรรม และเปิดเพลง ABBA ประโลมชีวิตทุกครั้งที่เขียนงาน I ติดตามผลงานส่วนตัวที่ porrorchor.com

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด