ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ดื่มสัปดาห์ละ 8 แก้ว : ผลต่อสมอง !


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

27 เม.ย. 68

รศ. ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

Logo Thai PBS
แชร์

ดื่มสัปดาห์ละ 8 แก้ว : ผลต่อสมอง !

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2592

ดื่มสัปดาห์ละ 8 แก้ว : ผลต่อสมอง !
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

วันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2025 คณะนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยการแพทย์เซาเปาโล (University of Säo Paulo Medical School) ประเทศบราซิล ตีพิมพ์ในวารสาร Neurology ผลการศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองของคนดื่มหนัก 8 แก้วหรือมากกว่าต่อสัปดาห์ พบว่า มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเกิดความผิดปรกติกับสมอง ในส่วนเกี่ยวกับความจำและการคิด แต่มิได้พิสูจน์ว่า การดื่มจัด เป็นต้นเหตุของความผิดปรกติที่เกิดกับสมอง หากแสดงถึงความเกี่ยวพันกัน

“วิทยาศาสตร์ ทันโลก ทันชีวิต” วันนี้ จะนำท่านผู้อ่านไปดูผลการศึกษาวิจัยใหม่ ผลจากการดื่มเครื่องดื่มประเภทมีแอลกอฮอล์หรือสุราและเบียร์ต่อสมอง ทั้งโดยสภาพรวมของสมองและการทำงานของสมอง

ทำไมศึกษา “แอลกอฮอล์” กับ “สมอง” จึงสำคัญ ?

“มนุษย์” กับ “การดื่ม” ดูจะเป็นสิ่งคู่กันมาตลอด !

ตามพระคัมภีร์ไบเบิล มนุษย์คนแรกที่รู้จัก “เมา” คือ โนอาห์ !

หลังจากที่พระเจ้าทรงบันดาลให้ฝนตกน้ำท่วมโลกอยู่นาน 40 วัน แสงอาทิตย์ก็ส่องลงมาถึงเรือโนอาห์ และ โนอาห์ก็ฉลองด้วยการ “หมักไวน์” จากองุ่น แล้วก็ดื่ม จนกระทั่ง “เมาหมดสติ” ไปเลย

ตามประวัติศาสตร์ของจริง !

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการผลิตเบียร์ของมนุษย์ คือ การค้นพบส่วนยังหลงเหลืออยู่ของเบียร์อายุ 13,000 ปี อยู่ในถ้ำสำหรับประกอบพิธีฝังศพใกล้เมืองไฮฟา (Haifa) ประเทศอิสราเอลปัจจุบัน โดยพบส่วนยังเหลือเป็นรอยหลักฐานของแอลกอฮอล์จากข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ ในหลุมหินที่พื้นถ้ำ

อีกหลักฐานที่เก่าแก่รองลงมา คือ การค้นพบเหยือกอายุ เก่าแก่ถึง 7,000 ปีก่อน ค.ศ. ที่หมู่บ้านยุคหินใหม่เจียหูในมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน

หลังจากนั้นมา ก็มีการค้นพบหลักฐานมากมายในทุกภาคส่วนของโลก เกี่ยวกับ “การดื่ม” เครื่องดื่มประเภทมีแอลกอฮอล์จากการหมักและการกลั่น เป็นเบียร์ เป็นไวน์ เป็นสุราหลากหลายชนิด

จนกระทั่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 6,000 ปีก่อน ทั้งในแถบเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) และเอเชีย มนุษย์กับการดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสำคัญของบ้านเมือง ของบุคคล แม้แต่ในทางศาสนา (ยกเว้นศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามที่มีบทบัญญัติห้ามเครื่องดื่มประเภทสุรายาเมาชัดเจน)

โดดข้ามมาที่ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 20 ที่วงการแพทย์ก้าวหน้าถึงขั้นสามารถเจาะศึกษาองค์ประกอบและระบบหรืออวัยวะแทบทั้งหมดในร่างกายมนุษย์ได้ ก็ได้มีการศึกษาผลของการดื่มเครื่องดื่มประเภทมีแอลกอฮอล์ คือ เบียร์และ “เหล้า” หรือ “สุรา” สารพัดชนิด โดยส่วนใหญ่จะเน้น...หรือมี...การศึกษาผลจากการดื่มต่ออวัยวะที่มีผลจากสุราชัดเจน หรือศึกษาได้ “ไม่ยาก” นัก เช่น ผลของการดื่มต่อ ตับ, ไต, หัวใจ, กระเพาะอาหาร, ลำไส้ และเส้นเลือด โดยผลที่ปรากฏชัดเจนและมีข้อมูลอันตรายจากการดื่มมากที่สุด คือ ตับ

แทบทุกประเทศในปัจจุบัน จะมีข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากอาการ “ตับแข็ง” เพราะ “ดื่มมากเกินไป”

สำหรับการศึกษาผลของการดื่มต่อสมองล่ะ ?

โดยทั่วไป ที่มีการศึกษามากและก็มีการเผยแพร่ “เตือน” อันตรายจากการดื่มมากเกินไปหรือดื่มเป็นประจำ คือ การศึกษาจากสภาพผลรวมการทำงานของสมอง ที่แสดงออกมาโดยพฤติกรรม ดังเช่น ความคิด ความจำ สติ การทรงตัว การครองสติ อาการตาลาย ตาพร่ามัว ซึ่งจริง ๆ แล้ว มิได้เกิดจากความผิดปรกติของ “ตา” แต่เกิดจากผลของแอลกอฮอล์ต่อสมองและระบบประสาทการทำงานของการมองเห็น

ที่ยังขาดหรือมีอยู่ค่อนข้างน้อย คือ การศึกษาผลของการดื่มต่อสมองโดยตรงในเชิงลึก ถึงสภาพและการทำงานของสมอง รวมไปถึง “ข้อมูล” ที่เกี่ยวข้อง ดังเช่น จำนวนตัวอย่างสำหรับการศึกษาผลของการดื่มต่อสมองโดยตรง

แล้วสาเหตุ คืออะไร ?

อย่างตรง ๆ ก็คือ ความรู้และเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่จะสามารถศึกษาสมองอย่างเจาะลึกและตัวอย่างที่จำเป็น เช่น มากพอ ที่จะทำให้ผลการศึกษามีความหมายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คือ สรุปและใช้ประโยชน์ได้

แล้วสถานการณ์ในปัจจุบันล่ะ ?

อย่างตรงๆ อีกเช่นกัน ก็คือ ความรู้เกี่ยวกับสมอง (รวมถึงระบบการทำงานของส่วนต่างๆ ที่ประกอบเป็นร่างกายมนุษย์) และเครื่องมือหรือเทคโนโลยี ที่สามารถเจาะลึกถึงระบบการทำงานของสมอง และผลของ “สิ่งรบกวน” ทั้งจากภายนอก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งรบกวนภายในร่างกายที่สมอง...หรือถึงสมองโดยตรง ที่ก้าวหน้าขึ้นมาก...

โดยในส่วนเป็น “ข้อมูลตัวอย่าง” ก็ก้าวหน้าขึ้นมาก เพราะมีคอมพิวเตอร์เป็น “กำลังสนับสนุน” ในการเก็บข้อมูลรายละเอียดเชิงสถิติและอื่นๆ ในลักษณะมักเรียกกันเป็น “biobank” คือ “ธนาคารชีวภาพ” หรือ “คลังชีวภาพ” ที่วงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในปัจจุบันมักจะ “มี” และ “แบ่งปัน” ให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

จาก 3 ปัจจัยใหญ่ คือ

หนึ่ง : ความรู้เกี่ยวกับสมองที่ดีขึ้นมาก

สอง : เครื่องมือหรือเทคโนโลยีศึกษาสมองที่ก้าวหน้าขึ้นมาก

สาม : ธนาคารชีวภาพ หรือ คลังชีวภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติโดยคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นมาก...

ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าอีกขึ้น ในการศึกษาผลดังเช่นจากการดื่มต่อสมองโดยตรง ดังเรื่องที่มาเรื่องของเราวันนี้

ผลการศึกษาใหม่ “การดื่ม” กับ “สมอง”

ผลการศึกษาใหม่จากคณะนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยการแพทย์เซาเปาโล มี เอ.เอฟ.โอ. จัสโต (A.F.O. Justo) เป็นหนึ่งในผู้นำการศึกษา โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ศึกษาผลการดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ระดับหนัก (8 แก้วหรือมากกว่าต่อสัปดาห์) ต่อสมองของคนสูงวัย ทั้งต่อเรื่อง ความสามารถในการคิด การจำ สภาพทางกายภาพ (สุขภาพ) ของสมอง และน้ำหนัก (มวล) ของสมองต่อสัดส่วนความสูงของร่างกาย โดยเปรียบเทียบกับคนที่ดื่มน้อยกว่า และที่ไม่ดื่ม

สำหรับวิธีการศึกษาและตัวอย่างการศึกษา เป็นการศึกษาจากการผ่าศึกษาสมองของตัวอย่างที่เสียชีวิตไปแล้วจำนวน 1,785 คน จาก Biobank for Aging Studies (ธนาคารชีวภาพสำหรับการศึกษาคนสูงวัย) Säo Paulo Research Foundation (มูลนิธิการวิจัยเซาเปาโล) โดยอายุเฉลี่ยขณะเสียชีวิต คือ 75 ปี และข้อมูลจากญาติผู้ใกล้ชิดเกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มของตัวอย่าง

ในการศึกษา คณะนักวิทยาศาสตร์แบ่งตัวอย่างการศึกษาจำนวนทั้งหมด ออกเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มหนึ่ง : จำนวน 965 คน เป็นคนในกลุ่ม “ไม่ดื่ม”

กลุ่มสอง : จำนวน 319 คน เป็นคนในกลุ่มนักดื่มระดับปานกลาง คือ ดื่มสัปดาห์ละ 7 แก้วหรือน้อยกว่า

กลุ่มสาม : จำนวน 129 คน เป็นคนในกลุ่มดื่มระดับหนัก คือ สัปดาห์ละ 8 แก้วหรือมากกว่า

กลุ่มสี่ : จำนวน 368 คน เป็นคนในกลุ่มคนเคยเป็นนักดื่มระดับหนัก

ในรายงานผลการศึกษา คณะนักวิทยาศาสตร์ใช้มาตรฐานความหมายของการดื่มมากหรือน้อย คือ 1 แก้วของการดื่ม มีแอลกอฮอล์ 14 กรัม ซึ่งมีอยู่ในเครื่องดื่มประเภทหลัก ๆ คือ

  • เบียร์ ขนาด 350 มิลลิลิตร
  • ไวน์ ขนาด 150 มิลลิลิตร
  • สุรากลั่น ขนาด 45 มิลลิลิตร

สรุปผลการศึกษาที่สำคัญ คือ

* การดื่มเพิ่มความเสี่ยงโดยภาพรวมต่อทั้งสภาพของสมอง และความผิดปรกติของระบบการทำงานของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นประสาทสมอง และเส้นเลือดของสมอง

* สมองของคนดื่มหนัก เสี่ยงต่อการเกิดความผิดปรกติ เรียก brain lesion คือ สมองเป็นแผลหรือการบาดเจ็บ

* เส้นประสาทสมองมีสภาพไม่ปรกติ เกิดสภาพแบบเป็น Tau tangle คือ เส้นประสาทพันกัน สาเหตุจากความผิดปรกติของการผลิตโปรตีนเทา (Tau)

* เกิดอาการภาวะเส้นเลือดสมองแข็งและตีบตันเรียก Hyaline Arteriolosclerosis ซึ่งทำให้เลือดในเส้นเลือดสมองไหลไม่สะดวก และมีผลในระยะยาวต่อสภาพและการทำงานของสมอง เช่น เนื้อเยื่อสมองอักเสบ

ทั้งนี้ คณะนักวิจัยย้ำว่า ผลจากแอลกอฮอล์ต่อสมองดังกล่าวไปแล้วนั้น คณะนักวิจัยมิได้พบว่า แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุโดยตรง แต่เป็น “แนวโน้ม” ความเสี่ยงจากแอลกอฮอล์ที่ดื่มมากเกินไป โดยมีผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทั้งสี่ที่สำคัญ คือ

* สำหรับกลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มคน “ไม่ดื่ม” พบว่า สมองมีอาการหลอดเลือดตีบ 40% เป็นอาการสภาพสมองเสื่อมตามวัย

* กลุ่มที่สอง กลุ่มคนดื่มระดับปานกลาง พบว่า สมองมีอาการสมองเลือดตีบ 45%

* กลุ่มที่สาม กลุ่มคนดื่มหนัก พบว่า สมองมีอาการหลอดเลือดตีบใกล้เคียงกับกลุ่มที่สอง แต่น้อยกว่าเล็กน้อย คือ 44%

* กลุ่มที่สี่ กลุ่มคนเคยดื่มหนัก พบว่า สมองมีอาการหลอดเลือดตีบ 50%

หลังการปรับปัจจัยที่อาจมีผลต่อสุขภาพสมองดังเช่น อายุ (ขณะถึงแก่กรรม) การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย

พบว่า คนในกลุ่มที่สาม คือ ดื่มหนัก มีความเสี่ยงต่ออาการเส้นเลือดสมองตีบตันมากกว่าคนในกลุ่มที่หนึ่ง คือ คนไม่ดื่ม สูงถึง 133%...

* สูงกว่าคนในกลุ่มที่สอง คือ คนดื่มระดับปานกลาง 60%

* สูงกว่าคนในกลุ่มที่สี่ คือ คนเคยดื่มหนัก 89%

คณะนักวิจัยยังพบอีกด้วยว่า คนในกลุ่มดื่มหนัก และคนในกลุ่มเคยดื่มหนัก มีความเสี่ยงต่อการเกิดการพันกันของใยเส้นประสาทสมองจากโปรตีนเทา ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอาการอัลไซเมอร์ มากกว่า คือ 41% และ 31% ตามลำดับ

สำหรับในส่วนเกี่ยวกับสภาพของสมอง ผลการศึกษาพบว่า คนในกลุ่มเคยดื่มหนัก มีอัตราส่วนมวลของสมองต่อมวลทั้งหมดของร่างกายต่ำและมีความสามารถในการคิดการจำลดน้อยลง...

แต่ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างอัตราส่วนแบบเดียวกัน คือ อัตราส่วนมวลของสมองต่อมวลของร่างกาย หรือความสามารถในการคิดการจำ สำหรับคนดื่มระดับปานกลางหรือคนดื่มหนัก

นอกเหนือไปจากอาการบาดเจ็บของสมอง ผลการศึกษาพบว่า การลดลงของความสามารถในการคิดการจำ เกิดขึ้นเฉพาะกับคนเคยดื่มหนัก

ผลการศึกษาอีกประการหนึ่งที่คณะนักวิทยาศาสตร์พบ คือ คนดื่มหนัก มีอายุสั้นกว่าคนไม่ดื่มโดยเฉลี่ย 13 ปี

เอ.เอฟ.โอ. จัสโต กล่าวสรุปผลการศึกษาวิจัยโดยภาพรวมว่า เราพบหลักฐานเชื่อมโยงโดยตรงกับสัญญาณการบาดเจ็บในสมอง ซึ่งอาจมีผลต่อความจำและความสามารถในการคิด...

ความเข้าใจเหล่านี้ มีความสำคัญต่อการสร้างความตระหนักในปัจจัยมีความสำคัญต่อสุขภาพ และการสร้างมาตรการเพื่อลด “การดื่มอย่างหนัก”

ในส่วนของขีดจำกัดสำหรับการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ยังขาดส่วนเป็นข้อมูลจำเพาะละเอียดของตัวอย่างการศึกษา ดังเช่น การดำเนินชีวิตก่อนถึงแก่กรรม ข้อมูลรายละเอียดความยาวนานของพฤติกรรมการดื่ม และความสามารถในเรื่องความคิด

“ข้อดีของการดื่ม” มีไหม ?

แล้วการดื่ม ไม่มี “ข้อดี” อะไรเลยหรือ ?

ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะนึก “ถาม” ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยว่า เป็น “คำถามที่ควรถาม” ...

เพราะถ้าการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไม่มีประโยชน์อะไรเลย โดยมีเฉพาะส่วนที่เป็นพิษเป็นอันตราย สิ่งหนึ่งที่ “คงจะเกิดขึ้น” มานานแล้ว คือ การดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ก็ต้อง “ผิดกฎหมาย” ดังเช่น ยาเสพติดหลากชนิด

อย่างชัด ๆ ถ้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่มี “ข้อดี” อะไรเลย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด คงไม่ “เป็นส่วนหนึ่ง” ของพิธีหรือกิจกรรม ทั้งงานใหญ่ เป็นทางการ ดังเช่นในพิธีฉลองหรือการต้อนรับอย่างเป็นทางการของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และในงานเลี้ยงงานฉลองทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นงานใหญ่ หรืองานสังสรรค์ของกลุ่มมิตรสหาย ที่มักจะขาดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ไม่ได้

สำหรับผู้เขียน ก็นึกไปถึงสิ่งที่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ควรจะ “ขอบคุณ” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ที่ทำให้ผู้เขียนได้อ่านวรรณกรรม ดังเช่น “ผู้ชนะสิบทิศ” โดย “ยาขอบ” “ขุนศึก” โดย “ไม้ เมืองเดิม” และได้ฟังเพลง “Your Cheatin’ Heart” โดย “แฮงค์ วิลเลียมส์” อย่างไม่รู้จักเบื่อ...

เพราะ “ยาขอบ” “ไม้ เมืองเดิม” และ “แฮงค์ วิลเลียมส์” สร้างผลงานอมตะได้ โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็น “ตัวช่วย” ที่ขาดไม่ได้...

ซึ่งในที่สุด “ตัวช่วย” ก็กลายเป็น “ตัวร้าย” คร่าชีวิตของ “ยาขอบ” ในวัยเพียง 48 ปี “ไม้ เมืองเดิม” ในวัยเพียง 36 ปี และ “แฮงค์ วิลเลียมส์” ในวัยเพียง 29 ปี

แล้วอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ล่ะ ?

การดื่มไม่มี “ข้อดี” อะไรเลย หรือ ?

คำตอบตรง ๆ คือ ก็มี!

ถึงแม้องค์การอนามัยโลก จะออกมาเตือนว่า “การดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะน้อยแค่ไหน ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพ !” นั่นคือคำเตือนว่า “ไม่มีหรอก ปริมาณการดื่มที่ปลอดภัยสำหรับสุขภาพ !”

แต่ก็มีข้อโต้แย้งจากหน่วยงานในบางประเทศ และนักวิชาการที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลของการดื่มต่อสุขภาพ ประมาณว่า “การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะ “แรง” หรือ “ไม่แรง” แค่ไหน ก็เหมือนกับการห้าม “กิจกรรม” ทุกอย่างที่ “เสี่ยง” หรือ “อาจ” เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ...

โดยมีข้อแนะนำที่ค่อนข้างตรงกันเกี่ยวกับการดื่ม คือ ไม่ควรดื่มเป็นประจำ หรือหากจะดื่ม ก็ดื่มเป็นปริมาณให้น้อยที่สุด ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ส่วน “ข้อดี” ของการดื่มที่ไม่มากเกินไป ต่อสุขภาพ ก็มี เช่น 

* ดีต่อจิตใจ ความรู้สึก อารมณ์ดี

* ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เพราะแอลกอฮอล์จะช่วยทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดี คือ เอชแอลดี (HLD) สูงขึ้น โดยเอชแอลดีมีคุณสมบัติป้องกันภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด

* ลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน

* อาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ เพราะแอลกอฮอล์มีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของถุงน้ำดี และช่วยทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดีในร่างกายสูงขึ้น

แต่ทั้งหมดของ “ข้อดี” ที่กล่าวมานี้ ก็มีคำแนะนำเชิงวิชาการว่า ก็ล้วนเกิดขึ้นได้...และดี...จากการไม่ดื่มเลย โดยพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เหมาะสม !

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร ?

ท่านเป็นคนดื่มหรือไม่ ? เพราะอะไร ?

 

อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech Scienceวิทยาศาสตร์ ทันโลก ทันชีวิตชัยวัฒน์ คุประตกุล
 รศ. ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล
ผู้เขียน:  รศ. ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล

นักวิทยาศาสตร์ และนักอนาคตศาสตร์ เจ้าของคอลัมน์ ​"วิทยาศาสตร์ ทันโลก ทันชีวิต"

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด