เมื่อ ‘ความตาย’ คือเรื่องธรรมชาติของทุกสิ่งมีชีวิต แต่กลับเป็นสิ่งที่หลายคนไม่อยากพูดถึง บ้างก็ว่าเป็นเรื่องอัปมงคล บ้างก็อาจมีความทุกข์ระทมเป็นฉากหลังจากการสูญเสีย การพูดถึงความตายจึงอาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นประเด็นหลักในบทสนทนานัก
แต่ชีวิตเราคือความไม่แน่นอน อายุสั้นหรือยืน ตายวันหรือตายพรุ่ง ตายดีหรือตายไม่ดี การเตรียมตัวและพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องความตาย จึงเป็นประเด็นใหม่สำหรับโลกของเรา มากไปกว่านั้น การมีอยู่ของ ‘นักวางแผนการตาย’ อย่าง ‘กอเตย ปิญชาดา ผ่องนพคุณ’ ผู้ที่พยายามเปลี่ยนมุมมอง ให้การตายเป็นเรื่องที่คุยและวางแผนได้ ยิ่งเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า “เรื่องความตายไม่เคยไกลตัว”
การเริ่มต้นพูดคุยเรื่องการตาย สิ่งแรกคือ ‘การปรับทัศนคติ’ ทุกคนมีทัศนคติและมุมมองในเรื่องการตายที่แตกต่างกัน รวมถึงความแตกต่างและช่องว่างของรุ่น (Generation Gap) การมองความตายของคนรุ่นก่อน อาจมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดถึง หากยังไม่ถึงเวลา หรือไม่ดูสถานที่ แต่ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ความตายอาจเป็นเรื่องที่พูดถึงได้อย่างอิสระ การเริ่มต้นบทสนทนา จึงต้องเริ่มต้นด้วยการพูดที่สบาย ๆ และผ่อนคลาย ก่อนที่จะค่อยเข้าประเด็น
การสนับสนุนการพูดคุยด้วยการเป็น ‘ผู้ฟังที่ดี’ ก็มีความจำเป็น เพราะการแสดงถึงความตั้งใจและใส่ใจที่จะรับฟังกับคู่สนทนา ซึ่งจะช่วยให้เขาเปิดใจและกล้าที่จะพูดคุยในประเด็นความตายได้มากยิ่งขึ้น และสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ ‘การตั้งคำถาม’ คำถามที่ใช้ ต้องมีความเหมาะสมกับสถานการณ์และสถานที่ เช่น งานศพ หรือโรงพยาบาล เพื่อให้ประเด็นที่ถามนั้นมีความสอดคล้องและโน้มน้าวไปในทางเดียวกัน
อีกวิธีหนึ่งคือ การเขียน ‘Living will’ หรือ ‘หนังสือแสดงเจตนาการรักษาในระยะสุดท้ายของชีวิต’ ซึ่งมีแบบฟอร์มตัวอย่างของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นหนังสือที่ช่วยให้ผู้ดูแลหรือคนใกล้ชิดปฏิบัติตามคำขอของเราในช่วงสุดท้ายของชีวิต โดยอาศัยมาตราที่ 12 ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีข้อความที่ว่า
“มาตรา ๑๒ บุคคลมีสิทธิทําหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดทายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดําเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพดานสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทํานั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”
การเขียน Living Will จึงเป็นวิธีที่อาจช่วยให้ผู้เขียนเจตนา ได้กลั่นกรองความคิดและความต้องการที่แท้จริงในช่วงสุดท้ายของชีวิต หรือหากใกล้เผชิญกับความตายจริง เราและคนใกล้ชิดจะต้องรับมืออย่างไร ในส่วนนี้การใช้วิธี ‘การดูแลแบบประคับประคอง (Paliative Care)’ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่เพิ่มคุณภาพและลดความทรมานในตัวผู้ป่วย และเป็นการดูแลที่ขึ้นอยู่กับความต้องการร่วมของผู้ป่วยและครอบครัว ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จนถึงสิ้นสุดในเรื่องของการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ดูแลและครอบครัว
หากเปลี่ยนมุมมองความตายให้เป็นเรื่องใกล้ตัวในแบบที่คุยแล้วสบายใจ ปราศจากการตัดสิน ทุกคนก็คงออกแบบชีวิตของตัวเองได้ตั้งแต่เริ่มต้นและสิ้นสุด เพราะ ‘ความตายไม่น่ากลัว’ เพียงแค่ลองเปิดใจที่จะคุยความตาย อย่างสบายใจ
รับชมเรื่องราว ‘กอเตย ปิญชาดา’ (ในวันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2568 เวลา 21.30 น.) ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต หรือได้มุมมองใหม่ ๆ และพร้อมมีวันนี้ดีที่สุดในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือ รับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/MadeMyDay
อ้างอิง