ปฏิบัติการ 5 วัน กับการค้นหากว่า 180 ชั่วโมง ในที่สุดก็พบร่างคนงานคนแรก มาถึงนาทีนี้ เราสรุปภาพรวมกันอีกครั้ง อุโมงค์นี้ ลึก 2 กิโลเมตร โดยตั้งแต่ปากอุโมงค์เข้าไป 1.6 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่สามารถขับรถเข้าไปได้ เพราะฉะนั้น ผู้ประสบภัยอยู่ลึกเข้าไปกว่านั้นอีก สภาพอุโมงค์รถไฟ สมมุติเป็นรู ภายในรูอุโมงค์ มีดินถล่มลงมา ดังนั้น ต้องทำอุโมงค์เหล็ก กั้นเป็นอุโมงค์อีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันดินถล่มลงมาใส่คน ที่ค้นหาคนหายอยู่ข้างใน คำถามสำคัญ 3 คนนี้อยู่ตรงไหนของอุโมงค์ ? จากปากอุโมงค์ที่ถล่ม ลึกเข้าไป 3 เมตร พบร่างผู้เสียชีวิต นั่งพิงล้อรถบรรทุก ซึ่งจากข้อมูลผู้สูญหายในวันแรก ระบุว่า คนที่อยู่กับรถบรรทุก คือแรงงานชาวเมียนมา เป็นรถบรรทุกที่มีความสูง 3 เมตร 50 เซนติเมตร นิยมใช้ในอุตสาหกรรมเหมือง จากคนแรก ขุดเข้าไปในแนวราบ "ไม่เจอ" จึงขุดลึกลงไปข้างล่าง 1.8 เมตร และอยู่ห่างจากพิกัดคนแรก 4 เมตร จุดนี้ คาดว่าเป็นพิกัดของคนงานคนที่ 2 ซึ่งอยู่ในรถแบกโฮ แต่ยังไม่รู้ทิศทางว่า รถแบกโฮอยู่ชิดซ้าย หรือชิดขวาของอุโมงค์ (ก็ยากอีก เพราะทิศทางต้องชัด จึงจะขุดไปเจอ) และจากคนที่ 2 ลึกเข้าไปอีก 10 เมตร จึงจะเป็นพิกัดคนที่ 3 ที่เป็นหัวหน้าคนงาน
แม้ผู้ประสบภัยรายแรกที่พบจะเสียชีวิต แต่ชุดทีมค้นหาก็ยังไม่หมดหวัง เพราะตอนนี้มีการนำสุนัข K9 USAR Thailand เข้ามาในพื้นที่เกิดเหตุอีกครั้งเพื่อหาพิกัดของผู้ประสบภัยรายที่ 2 เพื่อเร่งวางแผนการเข้าค้นหาและช่วยเหลือ ส่วนผลชันสูตรผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตรายแรกอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ 3 ถึง 5 วัน ติดตามความคืบหน้าจาก พจนีย์ ใสกระจ่าง รายงานสดจากอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ตลอดทั้งคืนเจ้าหน้าที่ยังคงพยายามหาวิธีเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุโมงค์ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงถล่ม ในจุดที่ได้ยินสัญญาณขอความช่วยเหลือ ในพิกัดพบสัญญาณชีพของผู้ประสบภัย แม้จะใกล้เพียง 1 เมตร แต่ปริมาณดินที่ทับถมและมีหินปิดกั้นเส้นทางทำให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ปฏิบัติการช่วยเหลือคนงานติดอุโมงค์รถไฟ ผู้สูญหาย 3 วัน ปรับรูปแบบมาอย่างต่อเนื่อง ดูความพยายามของเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือครั้งนี้ วิธีการเข้าไปยังจุดที่ผู้สูญหายอยู่ คือการใช้เทคนิคขุดเหมืองค้ำยัน ทำเป็นกล่องขนาดเล็ก กว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร และลึก 6 เมตร ใช้เหล็กทำเป็นกล่องและยันกับผนังอุโมงค์ไม่ให้ดินถล่มลงมา ช่วงแรกใช้รถแบกโฮขนาดเล็กเข้าไปขุดดินออกมา แต่หลังจากนั้นดินเริ่มถล่ม จึงปรับแผน ใช้คนเข้าไปตักดินออก เพื่อเข้าไปยังจุดที่ผู้สูญหายอยู่ จึงทำให้การช่วยเหลือใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่ก็แลกมาด้วยความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ขั้นตอนเหล่านี้ ดำเนินการโดยทีมกู้ภัยจีน ซึ่งมีประสบการณ์การกู้ภัยด้านนี้ ส่วนการเข้าไปช่วยเหลือผู้สูญหายออกมา จะเป็นหน้าที่ทีมกู้ภัย USAR ของไทย