ปฏิบัติการช่วยผู้ประสบภัยติดอยู่ในอุโมงค์ถล่ม โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงคลองขนานจิตร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 3 วันปรับรูปแบบมาอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ใช้ความพยายามอย่างมากในการช่วยเหลือครั้งนี้
วิธีการเข้าไปยังจุดที่ผู้ประสบภัยอยู่คือการใช้เทคนิคขุดเหมืองค้ำยัน ทำเป็นกล่องขนาดเล็ก กว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตรและลึก 6 เมตร ใช้เหล็กบีมทำเป็นกล่องและยันกับผนังอุโมงค์ ไม่ให้ดินถล่มลงมา
ช่วงแรกใช้ รถแบคโฮขนาดเล็กเข้าไปขุดดินออกมา แต่หลังจากนั้นดินเริ่มถล่ม จึงปรับแผนใช้คนเข้าไปตักดินออกเพื่อเข้าไปยังจุดที่ผู้ประสบภัยอยู่ จึงทำให้การช่วยเหลือใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่ก็แลกมาด้วยความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่
ขั้นตอนเหล่านี้ดำเนินการโดยทีมกู้ภัยจีน ซึ่งมีประสบการณ์การกู้ภัยด้านนี้ ส่วนการเข้าไปช่วยเหลือผู้สูญหายออกมาจะเป็นหน้าที่ทีมกู้ภัย USAR ของไทย
ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการค้นหามีการปรับแผนต่อเนื่อง ครั้งแรกเจ้าหน้าที่พยายามเปิดหน้าดินตรงทางออกจุดที่มีดินถล่ม แต่เปิดหน้าอุโมงค์ไม่ได้ เพราะเป็นที่ชัน มีดินถล่มลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงเปลี่ยนมาเข้าอุโมงค์ฝั่งทางเข้า ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว ความยาว 1.5 กิโลเมตร
การเข้าไปยังจุดนี้ใช้สุนัข K9 เข้าไปดมกลิ่นและชี้จุดก่อน จากนั้นจึงใช้เครื่องสแกนเข้าตรวจหาสัญญาณชีพ ช่วงแรกเจ้าหน้าที่สอดท่อแคสซิ่งเข้าไป แต่ดินถล่มลงมา จึงต้องปรับมาใช้เทคนิคขุดเหมืองค้ำยัน อย่างที่ทำในขณะนี้
ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ขุดอุโมงค์จากด้านข้าง ตรงจุดที่คาดว่าผู้ประสบภัยน่าจะอยู่ตรงนั้น เพราะหากเข้าทางนี้ได้อาจทำให้การช่วยเหลือรวดเร็วขึ้น แต่วันนี้ (28 ส.ค.) พบว่าจุดนั้นมีลักษณะเป็น “โพรง” มีมวลดินถล่มลงมาด้านล่าง ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือจากด้านนี้ได้ จึงหยุดการขุด เพราะห่วงว่าดินจะถล่มลงมาเพิ่มและอาจเป็นอันตรายกับผู้ประสบภัย
อ่านข่าว