องค์การกองทุนสัตว์ป่าสากลเรียกร้องรัฐบาลอนุรักษ์เสือโคร่ง
องค์การกองทุนสัตว์ป่าสากล หรือ WWF ระบุว่า แม้ว่าการล่าเสือจะเป็นส่วนหนึ่งที่กำลังคุกคามประชากรเสือทั่วโลก แต่การลักลอบล่าสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือนั้นมีมากกว่าการล่าเสือ ทำให้กระทบต่อความอยู่รอดของเสือ ส่วนการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน พบว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อสำคัญของเสือโคร่งเช่น กระทิง กวาง มีการกระจายเพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยดูจากกล้องดักถ่ายภาพ นอกจากนั้น พบหลักฐานการล่าสัตว์ป่าลดลงถึง 4 เท่า โดยดูจากหลักฐานของการล่าสัตว์ป่า เช่น กระสุนปืน และห้างยิงสัตว์
อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟู และรักษาสภาพพื้นที่ป่าก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง ซึ่งนอกจากการบุกรุกแผ้วถางแล้ว ป่ายังอาจถูกทำลายจากนโยบายของรัฐ เช่นกรณีโครงการเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งมีเป้าหมายจะสร้างในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่าเสือโคร่งมีการกระจายตัวเข้าไปใช้พื้นที่นั้น และมีการขยายพันธุ์ได้ ซึ่งหมายถึงว่าเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์
ปัจจุบันประชากรเสือในป่าทั่วโลกเหลืออยู่เพียง 3,200 ตัว คาดว่าอยู่ในประเทศไทยประมาณ 200-250 ตัว และกำลังมีแนวโน้มที่ดีในการขยายพันธุ์ ความสำคัญของเสือโคร่งในระบบนิเวศก็คือ เป็นปัจจัยชี้วัดว่าป่านั้นๆ มีความอุมสมบูรณ์ เป็นแหล่งทรัพยากรพันธุกรรมที่หลากหลาย และเป็นแหล่งต้นน้ำที่สมบูรณ์ที่ลงมาหล่อเลี้ยงมนุษย์