สภาวิชาชีพฯ กระตุ้น “จิตสำนึก” สร้าง “จริยธรรมสื่อ” เพื่อดูแลกันเอง
จัดสัมมนาระดมความเห็นคนโทรทัศน์วิทยุประกอบร่างจรรยาบรรณ
สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง ได้ร่วมกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนามคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดสัมมนาหัวข้อ “เปิดโลกทัศน์ เปิดใจ ไปกับ จริยธรรมจรรยาบรรณสื่อมวลชนไทย” โดยมีผู้ประกอบวิชาชีพโทรทัศน์และวิทยุ ศิลปิน ดารา รวมไปถึงผู้แทนที่เป็นกลุ่มผู้บริโภค เข้าร่วมรับฟังและเสนอความเห็นกันเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีสัมพันธ์
โดย รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม กรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กสทช. ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความสำคัญจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อมวลชนไทย” ใจความสำคัญว่า เรื่องความรับผิดชอบของสื่อมวลชนที่มีต่อผู้ชมในทุกระดับ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้ ผู้รับ และรวมไปถึงผู้ผลิตด้วย
นอกเหนือจากเรื่องความรับผิดชอบแล้ว เรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรยอมรับและถือเป็นแนวทางปฎิบัติร่วมกัน คือ การกำกับและดูแลกันเอง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลกับทางสภาวิชาชีพฯ เพื่อให้เกิดกระบวนการ “ไกล่เกลี่ย” สร้างความเข้าใจ หรือว่ากล่าวตักเตือน เพื่อผู้ประกอบการนำไปปฎิบัติให้เห็นผลที่น่าพึงพอใจขึ้น
และเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพมีการรวมตัวกันเพื่อดูแลกันเองแล้ว ควรที่จะเหลือเพียงองค์กรหลักเพียงหนึ่งเดียว ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทำงานร่วมกับ กสทช. เพื่อให้การทำงานของทั้ง 2 ฝ่าย มีการประสานงานกันอย่างคล่องตัวที่สุด ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่ตัวผู้บริโภค
ทางด้าน รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี ประธานสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบวิชาชีพในแวดวงวิชาชีพทั้งโทรทัศน์และวิทยุ จะต้องมารวมตัวกันเพื่อกำหนดมาตรฐานในการที่จะควบคุมและดูแลกันเอง ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ จากประสบการณ์และ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป โดยจะเห็นได้ว่า ในขณะนี้ ก็มีการร้องเรียนเข้ามาเป็นระยะๆ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ทางผู้ร้องเรียนจะส่งเรื่องราวไปยัง กสทช. มากกว่า ซึ่งทาง กสทช. ก็จะส่งเรื่องทั้งหมดกลับมาให้ทางสภาวิชาชีพฯ เป็นผู้พิจารณาในเบื้องต้น เพื่อไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมได้ ซึ่งควรใช้หลักการนี้ในขั้นแรกก่อน การส่งต่อไปยัง กสทช. นั้น ควรเป็นบทสุดท้ายในการใช้กฎหมายเข้ามามีผลบังคับ
“อยากให้มองในอีกแง่มุมหนึ่งว่า สื่อสามารถเยียวยาและป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งในบางกรณี เราก็เห็นว่า การแก้ไขในสิ่งที่ผิด อาจจะไม่ได้มีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเป็นบทสรุปในทุกครั้งเสมอไป การพูดคุยเพื่อทำการแก้ไขจากสิ่งที่ผิดให้เป็นสิ่งที่ถูก แล้วนำเสนอออกไป อาจจะมีประโยชน์ต่อตัวผู้บริโภคมากกว่าเสียด้วยซ้ำ”
ทางด้านนายสมรักษ์ ณรงค์วิชัย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะของผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial TV) และเป็นผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ กล่าวถึงการควบคุมดูแลสิ่งที่จะนำเสนอออกไป โดยยกตัวอย่างในส่วนของ ละคร ว่า จากอดีตที่ผ่านมาก็ได้มีการเข้มงวดเนื้อหาที่จะออกอากาศอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฉากที่สะท้อนความรุนแรง หรือ ฉากที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ทางสถานีฯ ก็ได้มีการพูดคุยกับทางผู้จัดตั้งแต่ต้น เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
เช่นเดียวกันกับทางด้านของกลุ่มทรู วิชั่นส์ โดยนายสมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลทีวี (Cable TV) ก็กล่าวว่า ทาง ทรู ได้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาเพื่อคัดเลือกเนื้อหาที่จะออกอากาศ โดยแบ่งออกเป็นระดับตามกลุ่มผู้ชม ซึ่งเนื้อหาหรือรายการที่จะเป็นการทำร้ายสังคม โดยเฉพาะกับ เด็ก และ เยาวชน จะไม่มีการนำเสนอในส่วนนี้เลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่มีเรื่องของ ข่าว เข้ามาเพิ่มเติม ก็ได้วางแนวทางไว้ว่าจะต้อง ไม่บิดเบือน ไม่ลำเอียง และนำเสนอโดยสุจริตใจ โดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติ เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายมองว่า การควบคุมดูแลกันเอง จะทำได้มากน้อยเพียงใด นายเดียว วรตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการ สายงาน แพลตฟอร์ม สเตรทิจี้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ที่มาเป็นผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการดาวเทียม (Satellite TV) ก็ได้ยกตัวอย่างระบบการจัดการการดูแลกันเองของธุรกิจเคเบิ้ลทีวีว่า ได้แยกออกมาเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม
แรก เป็นกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพรายใหญ่ ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีการพูดคุยถึงการใช้มาตรฐานในการควบคุมกันเองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพรายเล็ก และไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมฯ จะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ทางกฎหมาย จึงทำได้แต่เพียงการที่ประกอบการรายใหญ่ทำเป็นตัวอย่างเพื่อให้เกิดมาตราฐานในหมู่ของผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี
ทางด้านผู้ผลิตรายการอย่าง กันตนา โดยนางปฏิมา ตันติคมน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา ออร์กาไนเซอร์ แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด ที่มาในฐานะของผู้แทนผลิตรายการ (Production) ก็กล่าวว่า ผู้ผลิตรายการส่วนใหญ่ อยากผลิตรายการที่ดี มีเนื้อหาสาระที่ไม่ทำร้ายสังคมอยู่แล้ว แต่อาจจะติดขัดด้วยเรื่องเงื่อนไขทางธุรกิจ โดยเฉพาะระบบ เรตติ้ง ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องและเป็นปัจจัยตัวหนึ่งในการผลิตงานที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ส่งผ่านไปถึงเนื้อหาที่จะสื่อออกไปด้วย
ในส่วนของผู้บริโภค โดยนายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ที่มาในฐานะของผู้บริโภคสื่อ ก็กล่าวถึงประเด็นในการควบคุมกันเองของสื่อว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องของ “จิตสำนึก” ซึ่งในกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพรายใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีกลไกในการควบคุมดูแลในระดับหนึ่ง แต่ในส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพรายเล็ก ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ใครจะเป็นผู้ดูแล ซึ่งอาจจะต้องใช้เงื่อนไขของการต่ออายุใบอนุญาตเป็นตัวกำหนดด้วยอีกเงื่อนไขหนึ่ง
“การใช้เงื่อนไขในการต่อใบอนุญาตการประกอบกิจการ อาจจะเป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งเท่านั้น เพื่อตรวจสอบเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณอย่างสม่ำเสมอ แต่จากประสบการณ์ที่เห็นมาในต่างประเทศจะพบว่า สิ่งดีๆที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะกฎหมายที่เข้ามาควบคุมแล้วทำให้ดีขึ้น แต่เป็นเรื่องของสามัญสำนึกของคนทำงานที่จะต้องระลึกอยู่เสมอว่า สิ่งที่ตัวเองทำไปนั้น ทำร้ายสังคมหรือไม่” นายต่อพงศ์ กล่าว