ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ชวน"ร่วมเสวนา 80 ปี รัฐสภาไทย ยืนยันไม่เห็นด้วยร่างพ.ร.บ.ปรองดอง

การเมือง
30 ส.ค. 55
12:15
40
Logo Thai PBS
"ชวน"ร่วมเสวนา 80 ปี รัฐสภาไทย ยืนยันไม่เห็นด้วยร่างพ.ร.บ.ปรองดอง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง เสนอให้ร่วมกันผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ ขณะที่นายชวน หลีกภัย ยืนยัน ประชาธิปไตยในไทยพัฒนาและก้าวหน้าเหนือทุกประเทศในอาเซียน พร้อมย้ำไม่เห็นด้วยในหลักการและเหตุผล ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ในงานบรรยายพิเศษ 80 ปีรัฐสภาไทย

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จัดโครงการบรรยายพิเศษในโอกาส 80 ปี รัฐสภาไทย โดยมี นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมบรรยายเรื่อง "นิติบัญญัติกับประชาธิปไตยไทย" ซึ่งนายชวน ได้ยืนยันถึงการพัฒนาเปลี่ยนแปลงระบบประชาธิปไตยของไทยดีขี้น และเหนือกว่าประเทศในอาเซียน แต่กลับเจอปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะกรณีปัญหาการยึดอำนาจ รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น และการซื้อเสียงเลือกตั้งในทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของการเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตย

โดยอดีตนายกรัฐมนตรี ยังระบุอีกว่า การออกกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชน ควรเป็นที่ยอมรับตรงกัน เนื่องจากประชาชนถือเป็นเจ้าของประเทศ ขณะที่ ส.ส.อยู่ในฐานะตัวแทนประชาชนที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ โดยยังย้ำว่า ไม่เห็นด้วยในหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เนื่องจากมีสาระของการยกเว้นความผิด และเห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ที่กลไกการขับเคลื่อนยึดเสียงข้างมากไม่ควรเดินหน้าผลักดัน เพื่อตอบสนองฝ่ายบริหาร

ในขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย บรรยายพิเศษเรื่อง "เส้นทางประชาธิปไตยไทยในอนาคต" โดยเนื้อหาสำคัญระบุว่า ยิ่งเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น อายุประชาธิปไตยของไทยยิ่งสั้น โดยเทียบเคียงกับการเดินหน้าประชาธิปไตยของไทยในรอบ 80 ปีจะมีรัฐบาลจากกองทัพถึง 50 ปี และในช่วง 30 ปีที่มีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังคงมีระบบรองรับการรัฐประหารให้เกิดขึ้น แต่ในอดีตที่ผ่านมาก็ทำให้ค้นพบแง่มุมในการพัฒนาประชาธิปไตย

นอกจากนี้อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยย้ำว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 มีที่มาจากรัฐประหาร และมีสาระสำคัญที่รองรับอำนาจจากรัฐประหารให้เป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเสนอให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีกติกาที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และป้องกันปัญหาความขัดแย้ง ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง