ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บอร์ดโรคติดต่อฯ เตรียมใช้ Biometric ยืนยันตัวตน กลุ่มคนต่างด้าว

สังคม
4 เม.ย. 68
17:34
122
Logo Thai PBS
บอร์ดโรคติดต่อฯ เตรียมใช้ Biometric ยืนยันตัวตน กลุ่มคนต่างด้าว
คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบหลักการใช้ข้อมูลชีวมิติ (Biometric) ยืนยันตัวตน ที่ไม่มีเอกสารประจำตัว ลดความเสี่ยงจากโรคติดต่อและภัยสุขภาพ พร้อมให้รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเสริม ภูมิต้านทานโรคหัดให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ใน 4 จังหวัดภาคใต้

วันนี้ (4 เม.ย.2568) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/ 2568 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พร้อมกล่าวว่า ที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์โรคติดต่อชายแดน เช่น วัณโรค มาลาเรีย อหิวาตกโรค และโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในกลุ่มประชากรแฝงและในพื้นที่ชายแดน
ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพ ภาพลักษณ์ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ

ไทยมีประชากรและแรงงานต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพจำนวนมาก และมีภาวะสุขภาพและโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 - 27 ก.ย.2567 พบผู้ป่วยสะสม 1,704,626 คน เสียชีวิต 3,955 คน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปี 2568 คาดการณ์ว่ามีประชากรต่างด้าว 5,366,608 คน แบ่งเป็น 1.กลุ่มแรงงาน 3,350,969 คน / กลุ่มผู้ติดตาม 78,864 คน 2.กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะสิทธิ 736,775 คน และ 3.กลุ่มบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัว 1,200,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการยืนยันตัวตน จึงต้องมีการวางระบบ และแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ ให้มีการยืนยันตัวตนโดยใช้ข้อมูลชีวมิติ (Biometric) หรือรหัสเฉพาะบุคคล (Health ID) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคติดต่อและภัยสุขภาพจากประชากรแฝงกลุ่มนี้

โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ประสานงานกับสภากาชาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาจัดทำระบบและแนวทางปฏิบัติต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2566 กรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย และ NECTEC ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือฯ โดยมีองค์การอนามัยโลก (ประเทศไทย) เป็นพยาน ดำเนินการใน 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ตาก และกรุงเทพมหานคร โดยระบบ TRCBAS ของสภากาชาดไทย เป็นระบบการลงทะเบียนและยืนยันตัวตน ใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometrics) การจดจำใบหน้า (face recognition) และการจำลายม่านตา (iris recognition) เพื่อสนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรค ในบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ แนวทางปฏิบัติในการให้วัคซีนป้องกันโรคหัดเสริมในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้ให้ดำเนินการรณรงค์วัคซีนเสริมภูมิต้านทานโรคหัด และมอบหมายคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา เร่งให้วัคซีนหัดเสริมในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันโดยเร็วและลดการเสียชีวิต

จากข้อมูลในปี 2567 พบผู้ป่วยสงสัยโรคหัดกว่า 10,000 คน ตรวจยืนยัน 5,372 คน เสียชีวิต 11 คน ในจำนวนนี้ 9 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และยังคงมีการระบาดอยู่ โดยเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนต่ำ

ทั้งนี้ โรคหัดเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ผู้ปกครองสามารถนำบุตรหลาน อายุ 9 เดือน และ 1.5 ปี ไปรับบริการได้ฟรีที่โรงพยาบาลของรัฐ รวมถึง รพ.สต. ทั่วประเทศ

อ่านข่าว : เปิดผลตรวจแม่น้ำกก ปนเปื้อนสารหนูกว่าเท่าตัว

แจ้งเบาะแสบุหรี่ไฟฟ้า 5,863 เคส ศึกษาแบล็กลิสต์นำเข้า

"แผ่นดินไหว"ไม่กระทบเงินเฟ้อ สนค.ชี้ 95% ราคาสินค้ายังปกติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง