ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมโยธาฯ สั่งระงับใช้ 48 อาคารเสียหายจากแผ่นดินไหว

ภัยพิบัติ
4 เม.ย. 68
17:08
2,469
Logo Thai PBS
กรมโยธาฯ สั่งระงับใช้ 48 อาคารเสียหายจากแผ่นดินไหว
กรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดผลตรวจสอบอาคารที่ได้รับแจ้งความเสียหายแผ่นดินไหว ทั่วประเทศ 5,555 อาคาร ใช้งานได้ปกติ 5,203 อาคาร และโครงสร้างเสียหายหนัก สั่งระงับใช้ 48 อาคาร

วันนี้ (4 เม.ย.2568) ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ศรต.ยผ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย รายงานผลการดำเนินการในวันพฤหัสบดีที่ 3 เม.ย.2568 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน จำนวน 114 คน ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหาย โดยมีการแบ่งอาคารในการตรวจสอบออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มอาคาร รพ.-รร. 

อาคารกลุ่มที่ 1 ได้แก่ อาคารสาธารณะ อาคารชุมนุมคน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารราชการ ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบร่วมกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับการร้องขอ ในวันที่ 3 เม.ย.2568 จำนวน 24 หน่วยงาน จำนวน 66 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 63 อาคาร, มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 3 อาคาร และสีแดง ไม่มีอาคารที่มีความเสียหายอย่างหนักและระงับการใช้อาคาร

สรุปดำเนินการตรวจสอบอาคาร สะสมตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.3 เม.ย.2568 จำนวน 175 หน่วยงาน จำนวน 498 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 454 อาคาร, มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 42 อาคาร, โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนัก โดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 2 อาคาร

กลุ่มอาคารโรงแรม-คอนโด

อาคารกลุ่มที่ 2 ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ โรงแรม คอนโดมิเนียม หอพัก ห้างสรรพสินค้าที่เป็นของภาคเอกชน อาคารเหล่านี้เป็นอาคารที่ต้องมีการตรวจสอบอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารทุกปีอยู่แล้ว กรมโยธาธิการและผังเมืองได้แนะนำให้เจ้าของอาคารให้ผู้ตรวจสอบอาคารที่เคยตรวจสอบเข้าดำเนินการ ตามคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง

ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบอาคารไม่สามารถตรวจสอบอาคารได้ ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง มีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนจำนวนมากกว่า 2,600 ราย สามารถค้นหาผู้ตรวจสอบอาคารได้ผ่านเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง

กลุ่มบ้านพัก-ตึกแถว

อาคารกลุ่มที่ 3 ได้แก่ อาคารบ้านพักอาศัย ตึกแถว ห้องแถว และอาคารทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น กรุงเทพมหานครจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจสอบให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่พี่น้องประชาชน ผ่าน Traffyfondue ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน 2568 ได้รับแจ้งทั้งหมด 17,793 เรื่อง และดำเนินการแล้วเสร็จ 16,345 เรื่อง

สำหรับอาคารในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ตรวจสอบอาคารร่วมกับวิศวกรขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่น และวิศวกรอาสาของเอกชนในพื้นที่ ดำเนินการเช่นเดียวกับส่วนกลาง และให้คำปรึกษาแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยสั่งการให้มีการตรวจสอบอาคารสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล หรืออาคารหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้อาคาร

ระงับใช้ 48 อาคารทั่วประเทศ

ปัจจุบันได้มีผลการตรวจสอบอาคารในส่วนจังหวัด 76 จังหวัด จำนวน 5,057 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 4,749 อาคาร, มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 262 อาคาร, สีแดง โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนัก โดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร จำนวน 46 อาคาร

สรุปผลการตรวจสอบอาคารที่แจ้งว่าได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. - 3 เม.ย.2568 ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น 5,555 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 5,203 อาคาร, มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 304 อาคาร, โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 48 อาคาร

ทั้งนี้ กรมฯ ได้สร้างความเข้าใจถึงเกณฑ์แบ่งสีระดับสถานะโครงสร้างอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขั้นต้น และข้อปฏิบัติหลังการตรวจสอบอาคาร ดังนี้

สีเขียว

  • สถานะโครงสร้างอาคารที่ได้รับการตรวจสอบขั้นต้น : โครงสร้างอาคารมีความเสียหายเล็กน้อยหรือไม่มีความเสียหาย
  • คำแนะนำการใช้อาคาร : สามารถใช้งานอาคารได้ตามปกติ
  • ข้อปฏิบัติหลังการตรวจสอบอาคาร : เจ้าของอาคารควรเฝ้าระวังสภาพความเสียหายของอาคารที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงและหากตรวจสอบพบการเปลี่ยนแปลงหรือพบสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอาคารของหน่วยงานและแจ้งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบต่อไป

สีเหลือง

  • สถานะโครงสร้างอาคารที่ได้รับการตรวจสอบขั้นต้น : โครงสร้างอาคารมีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้แต่ต้องระมัดระวังภัยจากเศษวัสดุร่วงหล่นจากชิ้นส่วนโครงสร้างและส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาคาร
  • คำแนะนำการใช้อาคาร : สามารถใช้งานอาคารได้ต่อไป (บางส่วนหรือทั้งหมด) และอาคารต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
  • ข้อปฏิบัติหลังการตรวจสอบอาคาร : จัดหาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญดําเนินงานสำรวจความเสียหายอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อยืนยันความปลอดภัยในการใช้งานอาคารและกำหนดวิธีซ่อมแซมที่เหมาะสมต่อไป

สีแดง

  • สถานะโครงสร้างอาคารที่ได้รับการตรวจสอบขั้นต้น : โครงสร้างอาคารมีความเสียหายอย่างหนัก มีสภาพไม่ปลอดภัย
  • คำแนะนำการใช้อาคาร : ห้ามใช้งานอาคาร
  •  ข้อปฏิบัติหลังการตรวจสอบอาคาร : การเข้าภายในอาคาร ต้องได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ รวมถึงต้องจัดหาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญดำเนินการสํารวจความเสียหายอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อกำหนดวิธีการซ่อมแชมที่เหมาะสม ก่อนเปิดให้ใช้อาคารต่อไป

อ่านข่าว : ปรับแผนค้นหาผู้ติดค้างตึกถล่ม ใช้เครื่องจักรใหญ่เจาะเน้นโซน C , D  

ประกาศสิ้นสุดสาธารณภัยใน กทม. ยกเว้นพื้นที่ตึก สตง.ถล่ม 

"กสม." ขอ "สตง." ให้ความร่วมมือสอบสวน เหตุ "ตึกถล่ม" 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง