ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"อินโดนีเซีย" จัดทำโครงการอนุรักษ์หนังเก่า

Logo Thai PBS
"อินโดนีเซีย" จัดทำโครงการอนุรักษ์หนังเก่า

นอกจากให้ความบันเทิงแล้ว หน้าที่ของภาพยนตร์ยังถูกใช้เป็นสื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของ จึงมีความพยายามจากหลายฝ่ายในการร่วมกันอนุรักษ์ฟิล์มเก่า ที่หลายเรื่องเสียหายเนื่องจากไม่ได้รับการดูแลมาหลายปี เพื่อนำกลับมาฉายเพื่อให้ความรู้กับประชาชนได้อีกครั้ง

After the Curfew ภาพยนตร์อินโดนีเซียปี 1954 เรื่องราวของอดีตนักรบกองโจรที่กลับใจหันมาใช้ชีวิตเช่นคนทั่วไป หลังได้รับอิสรภาพจากเนเธอร์แลนด์ แต่ผลงานชิ้นเยี่ยมของ อุสมาร์ อิสมาอิล บิดาของวงการภาพยนตร์แดนอิเหนา กำลังตกอยู่ในชะตากรรมไม่ต่างจากหนังคลาสสิกอื่นๆ ที่ฟิล์มต้นฉบับไม่ได้รับการดูแล จนเสี่ยงต่อความเสียหายจากความชื้น เชื้อรา และสนิม 

อินโดนีเซียถือเป็นชาติแรกในอาเซียนที่ก่อตั้ง Sinematek Foundation มูลนิธิที่ดูแลฟิล์มภาพยนตร์มาตั้งแต่ปี 1975 แต่ทุกวันนี้กำลังขาดแคลนงบประมาณอย่างหนัก เหลือเพียงเงินบริจาค ปัจจุบันมูลนิธิมีเงินไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน แต่ต้องจ่ายเงินเดือนพนักงาน 18 คน และค่าใช้จ่ายในการดูแลฟิล์มโพสิทีฟ 187 ม้วนและฟิล์มเนกาทีฟกว่า 500 ม้วน  จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง Konfiden Foundation หน่วยงานรณรงค์ให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของการรักษาหนังเก่า

นอกจากนี้ ยังได้รับความช่วยเหลือจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์ และมูลนิธิ World Cinema Foundation ของผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี ที่บริจาคเงินเกือบ 5 ล้านบาท พร้อมช่วยเหลือด้านเทคนิคในการฟื้นฟูหนังสำคัญอย่าง After the Curfew ที่แต่เดิมเสียหายจนแทบฉายไม่ได้ ด้วยการสแกนฟิล์มต้นฉบับทั้งโพสิทีฟ และเนกาทีฟ แล้วนำส่วนที่ดีที่สุดมารวมกันจนได้หนังที่สมบูรณ์ และได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ผ่านมา รวมถึงฉายในโรงภาพยนตร์ในอินโดนีเซียอีกครั้งในรอบ 60 ปี

ความสำเร็จของ After the Curfew ทำให้เกิดความหวังในการรักษาสมบัติของวงการภาพยนตร์อินโดนีเซีย เนื่องจากก่อนหน้านี้แทบไม่มีผู้เห็นความสำคัญ รีวี้ อินเดรียซารี่ ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ยอมรับว่า แทบไม่มีใครสนใจหนังเก่า ตั้งแต่สมัยที่เธอยังไม่จบจากโรงเรียนทำหนัง โดยมักมองว่าสื่อบันทึกภาพ และเสียงไม่มีคุณค่าพอสำหรับการทุ่มเงินมหาศาลในการอนุรักษ์ แต่สิ่งเหล่านี้คือแหล่งข้อมูลที่ประเมินค่าไม่ได้ที่ให้นักศึกษา และนักวิจัยได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของชาติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง