เเม่น้ำสงคราม จ.นครพนมลดระดับ ส่งผลกระทบวิถีชีวิตชาวบ้าน
บ้านปากยาม หมู่บ้านเล็กๆใน อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ตั้งอยู่บริเวณปากเเม่น้ำยาม ซึ่งไหลมาบรรจบกับเเม่น้ำสงคราม ที่ตั้งของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นโนนทามหรือดอนทาม ในฤดูน้ำหลาก พื้นที่โดยรอบหมู่บ้านจะถูกน้ำท่วม จนมีสภาพคล้ายเกาะกลางเเม่น้ำ บุญจันทร์ สุขเจริญ ผู้ใหญ่บ้านปากยาม ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จึงระบุว่า ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำนาในฤดูทำนาได้ เพราะวิถีชีวิตของชาวบ้านต้องพึ่งพาเเม่น้ำสงคราม เเละพื้นที่ที่มีต้นไม้ขึ้นริมแม่น้่ำ หรือที่เรียกว่า ป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งใช้เป็นเเหล่งอาหารและแหล่งทำมาหากิน
เเม่น้ำสงคราม มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาภูพาน ในเขต จ.สกลนคร ไหลผ่าน จ.อุดรธานี หนองคาย เเละมาบรรจบกับเเม่น้ำโขงที่ จ.นครพนม มีความยาวกว่า 400 กิโลเมตร เเม่น้ำสงคราม จึงมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวอีสานตอนเหนืออย่างมาก
ระดับน้ำที่ลดลงต่ำกว่าทุกๆปี จึงกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวลุ่มน้ำสงครามในขณะนี้ โดยเฉพาะชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมง ซึ่งศุภฤกษ์ ชนะมาร ชาวประมงบ้านปากยาม อ.ศรีสงคราม ระบุว่าตอนนี้จับปลาได้น้อย ทำให้มีรายได้ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งเเตกต่างกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่เเล้ว ที่มีปลาชุกชุมมาก
การสร้างเขื่อนเเละกั้นประตูระบายน้ำในเเม่น้ำสาขาต่างๆ เป็นข้อสันนิฐานที่ชาวบ้าน เชื่อว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำลดลง ส่งผลให้ปลามีจำนวนน้อยลงตามไปด้วย สอดคล้องกับข้อมูลของ สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อ.ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งเเวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ม.ราชภัฏอุดรธานี นักวิจัยระบบนิเวศด้านสิ่งเเวดล้อม ที่วิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การสร้างสิ่งปลูกสร้างขวางลำน้ำ ทำให้ระบบนิเวศเเละระดับน้ำในเเม่น้ำสงครามเปลี่ยนแปลง
ข้อมูลจากงานวิจัยไทบ้าน โดยเครือข่ายนักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงคราม ระบุว่า บริเวณป่าบุ่งป่าทามตลอดลุ่มน้ำ มีระบบนิเวศย่อยถึง 28 ระบบ เหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของพันธ์ปลากว่า 124 ชนิด ที่สำคัญมีพรรณพืชในป่าทามที่ใช้ประโยชน์ได้ถึง 208 ชนิด เป็นเเหล่งน้ำที่สามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี
ปลาจากเเม่น้ำสงคราม จึงเป็นที่รู้จักของพ่อค้าคนกลางเเละผู้บริโภค เเละยังเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชาวจังหวัดนครพนม ทำให้ชาวประมง มีรายได้ครอบครัวละประมาณ 100,000-200,000 บาทต่อฤดูกาล เเต่ปัจจุบันรายได้ลดน้อยลงเหลือ 30,000-50,000 บาทต่อฤดูกาลเท่านั้น