กว่า 10 วันแล้ว ที่แนวร่วมระดับปฎิบัติการ หรือ อาร์เคเคอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ และแม้จะตัดสินใจอย่างดีแล้วว่าจะยอมวางอาวุธ และแสดงตน หลังถูกกดดันอย่างหนักจากขบวนการ และการติดตามจับกุมของเจ้าหน้าที่ เพราะมีคดีติดตัว ทั้งเผาโรงเรียน และขว้างระเบิด แต่ก็อดหวาดหวั่นไม่ได้ เพราะพวกเขาเหล่านี้ถือเป็นคนแรกของกลุ่มที่หลบหนี แต่กลับยอมแสดงตนของใช้ช่องทางตามพระราชบัญญัติความมั่นคงมาตรา 21 ที่ระบุว่า หากผู้ที่กระทำผิดกระทบต่อความมั่นคง กลับใจเข้ามอบตัว และกระทำเพราะหลงผิด รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับตัว โดยต้องเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน จนเสร็จสิ้นให้ถือว่าความผิดเป็นอันระงับไป
กระบวนการเข้าสู่การอบรมตามมาตรา 21 หลังการเข้าแสดงตนแล้ว ผู้ต้องหาจะถูกนำตัวมาซักถาม เพื่อบันทึกข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่รัฐ หลังจากนั้นข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำเข้าสู่การหารือของคณะกรรมการพิจารณาตามมาตรา 21 ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอรมน .ก่อนจะลงความเห็น แล้วส่งให้ อัยการยื่นคำร้องต่อศาล หากศาลเห็นว่า แนวร่วมหลงผิด หรือ กระทำความผิดไม่ได้ร้ายแรง ก็อาจพิจารณาให้เข้าสู่กระบวนการอบรม แต่อาจจะไม่รวมถึงผู้ต้องหารายใหญ่ที่มีคดีอาญาติดตัว
นอกจากแนวร่วมอาร์เคเคเหล่านี้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาส่งเรื่องให้อัยการแล้ว ในวันที่ 29 ต.ค.นี้ จะมีอดีตแนวร่วมรุ่นใหม่ คือ นายยาซะ เจ๊ะมะ และนายรอยาลี บือราเอ็ง ซึ่งผ่านการฝึกอบรมรุ่นแรก จะเสร็จสิ้นกระบวนการฝึกอบรมด้วยมาตรา 21 และอาจเป็นแบบอย่าง ทำให้แนวร่วมที่เหลือบางส่วน ซึ่งยังไม่มั่นใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีหมายจับใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 คน อาจยอมเข้าสู่กระบวนการปรองดอง เพื่อสร้างสันติภาพร่วมกัน