ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมการปกครอง เริ่มระบบจัดเก็บข้อมูลผู้ครองครองอาวุธปืน ผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์ ในจังหวัดภาคกลาง 5 จังหวัด ในการนำร่องตรวจสอบประวัติการครอบครองอาวุธปืน แต่ทั้งนี้ มีอดีตข้าราชการออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ปืนสวัสดิการที่ขายอยู่นั้น มีราคาสูงเกินจริง โดยตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงต่างของราคา อาจก่อให้เกิดการทุจริตของเจ้าหน้าที่
นายสันติ คณานุรักษ์ อดีตนายอำเภอเมืองหนองบัวลำภู ระบุว่า การสั่งซื้อของเขาผ่านบริษัทที่เป็นตัวแทนจริงกับโรงงานที่ผลิตอาวุธจริงโดยตรง ขนส่งทางเครื่องบิน เสียภาษีศุลกากรถูกต้อง และสามารถผ่อนส่งได้ เหมือนเช่นปืนสวัสดิการ ซึ่งความต่างของราคาที่เขาพบมีช่วงตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง เกือบ 40,000 บาท
ไทยพีบีเอส พยายามตรวจสอบข้อเท็จจริง เริ่มจากการสอบถามต้นสังกัด ของปืนสวัสดิการ กรมการปกครอง ที่สำนักการสอบสวนและนิติการ หรือสน.สก. ดูแล ได้รับคำตอบยืนยันว่า การตั้งราคาปืนสวัสดิการกรมการปกครอง เกิดขึ้นจากร้านค้าที่ได้รับอนุญาติให้จำหน่ายปืนสวัสดิการตามขั้นตอน จะแจ้งราคามาที่สำนัก โดยร้านค้าจะรวมค่าภาษีปืน ค่าด่านศุลกากร ค่าขนส่ง ค่าการตลาดของร้าน จากนั้นมีกรรมการหลายฝ่ายพิจารณา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่าจะมีราคาแพงเกินควร
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากผู้จัดจำหน่ายอาวุธปืน ที่ระบุว่า แม้ราคาโรงงานต่างประเทศจะตั้งราคาปืนไว้ไม่แพงมาก เช่น รุ่น แต่เมื่อนำเข้าประเทศไทย ตัวแทนจำหน่ายจะต้องบวกค่าขนส่ง ค่าภาษีร้อยละ 30 ค่าด่านศุลกากร ค่าเบ็ดเตล็ด รวมถึงกำไร ทั้งนี้ให้ความเห็นว่า ส่วนที่ปืนสวัสดิการบางกระบอก แพงถึงเกือบ 40,000 บาท ไม่น่าเป็นไปได้
ส่วนปัญหาปืนสวัสดิการ ที่มีหลายฝ่ายกังวลว่าจะก่อให้เกิดช่องว่างการทุจริต ทั้งการรู้เห็นกับร้านปืน เช่น การให้โควตาจำหน่ายปืนสวัสดิการกับทางร้าน หรือการควบคุมผู้ได้รับอนุญาติในการสั่งซื้อ
ไทยพีบีเอสได้รับการชี้แจงว่า โครงการปืนสวัสดิการของกรมการปกครอง เริ่มขึ้นปี 2552 สามารถสั่งปืนในโครงการได้จำนวน 285,000 กระบอก แต่บางรอบการสั่งซื้อ โรงงานอาจไม่สามารถผลิตตามใบสั่ง ซึ่งอาจมีการยกเลิก และเมื่อกำหนดสิ้นสุดโครงการปี 2557 ร้านค่าสวัสดิการใดยังไม่มีการสั่งซื้อตามโควตาที่ได้รับ ก็ไม่สามารถสั่งย้อนหลังได้ ส่วนปัญหาการสวมสิทธิ์ปืนสวัสดิการ สน.สก.ยืนยันว่ามีระเบียบชัดเจน
โครงการปืนสวัสดิการ มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน ซึ่งการสนันสนุนเพื่อต้องการให้ข้าราชการที่มีรายได้น้อย เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง หรือเพื่อใข้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ในราคาที่ไม่แพงเกินไป โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามโอนภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกใบอนุญาต เว้นแต่เป็นมรดกตกทอด ขณะที่ ผู้ที่คัดค้าน มองว่า ปืนสวัสดิการเพิ่มช่องทางการร่วมกันทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการกำหนดราคา และเกิดช่องว่างการสวมสิทธิ์เจ้าหน้าที่หรือพนักงานรัฐ เพื่อซื้ออาวุธปืน และอาจสามารถนำไปก่อให้เกิดอาชญากรรม รวมถึงก่อให้เกิดปืนเถื่อนได้ในที่สุด
/////