ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เล่าเรื่องแบบ "เต๋อ นวพล"

Logo Thai PBS
เล่าเรื่องแบบ "เต๋อ นวพล"

สร้างชื่อจากผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก 36 ที่คว้ารางวัลใหญ่ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองปูซาน แต่ตลอดเกือบ 10 ปี นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ไม่เพียงพยายามฝึกฝนการถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากหนังสั้น เขายังพัฒนาและเชื่อมโยงวิธีการเล่าเรื่องผ่านศิลปะหลายรูปแบบ

ภาพชายแปลกหน้าที่นั่งในสวนสาธารณะท่ามกลางฝูงนกอาจเป็นภาพที่เห็นชินตา หากสำหรับ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ การตีความให้แตกต่างคือความท้าทาย และยังเป็นแบบฝึกหัดในการคิดชื่อเรื่องและเขียนบท
 
<"">

1 ใน 20 ภาพถ่ายที่ เต๋อ นวพล บันทึกและตั้งชื่อชวนหัวด้วยฝีมือตัวเอง ในภาพ Carole would like to eat birds ที่เคยได้รับเชิญไปจัดแสดงนิทรรศการในประเทศสิงคโปร์เมื่อปีก่อน(2554) ไม่เพียงเป็นบันทึกส่วนตัวถ่ายทอดความประทับใจในต่างถิ่น หากทุกภาพของ เต๋อ นวพล ยังถูกนำมามองใหม่ให้กลายเป็นหนังฉากเดียว เพราะเชื่อว่างานถ่ายภาพสัมพันธ์กับการเขียนบทเสมอ

"เราไม่อยากหยุดนิ่ง และต้องคิดรูปให้เป็นหนัง ซึ่งมีทั้งยากและง่าย ที่ยากคือ การต้องให้มันจบในภาพเดียว เพราะหนังสามารถเล่าได้เยอะกว่า แต่ถ้าเป็นหนังเราก็ต้องเล่าอีกว่าเรื่องจะเป็นยังไง" นวพลกล่าว

ความรู้จากการเรียนอักษรศาสตร์ อย่างวิชาปรัชญา เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจวิถีมนุษย์ ต่อยอดด้วยการตั้งคำถามกับเรื่องเดิมๆเพื่อให้ได้มุมมองใหม่ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวในปัจจุบัน ภาพยนตร์สั้นกว่า 10 เรื่อง ของผู้กำกับหนุ่มวัย 28 ปี จึงมักถ่ายทอดตัวละครที่สะท้อนความหลากหลายในสังคม

ความชื่นชอบในการเล่าเรื่อง เริ่มตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม ถ่ายทอดเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นผ่านสมุดทำมือ พัฒนาจากตัวอักษรจนเป็นหนังสั้นที่ถ่ายทำด้วยวิธีง่ายๆ แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีและทุน หากครอบครัวที่คอยสนับสนุนเสมอ ก็ทำให้ นวพล มุ่งมั่นจนก้าวสู่ความสำเร็จบนเส้นทางสายนี้

<"">
<"">

 

"เขาพูดอยู่เรื่อยๆว่าอยากจะทำหนัง เราก็คิดว่าจะเป็นไปได้หรอ? แม่ไม่มีทุนนะ แต่เพราะลูกอยากทำเราก็ปล่อยเขาไป เขาคิดแล้วก็อยากจะทำหนังตั้งแต่สมัยชอบดูการ์ตูน จากนั้นก็มาเขียนการ์ตูน 4 ช่อง เขาจะเอามาให้แม่ดูว่าขยับแล้วมันจะเป็นอย่างนี้นะ" สุนิสา ธำรงรัตนฤทธิ์ มารดา กล่าว

แม้ว่าเวลาแต่ละวันส่วนใหญ่จะหมดไปกับการทำหนัง หรือว่าการเขียนบท แต่ก็มีอีกงานอดิเรก ก็คือ การเล่นดนตรี หรือตีกลอง ซึ่งนอกจากจะผ่อนคลายจากความเครียดจากการทำงานแล้ว จังหวะของดนตรีก็ยังช่วยในการตัดต่องานอีกด้วย

หัดตีกลองมาตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยและฝึกเองในห้องดนตรีของคณะ แม้จะไม่เก่งนักและไม่ได้มีวงเป็นของตัวเอง หาก 8 ปีที่ผ่านมา เขาเพียรฝึกตีกลองและหัดเพลงใหม่อยู่เสมอ ไม่เพียงได้ใช้สมาธิไปกับการตีกลอง หากการกำหนดจังหวะของดนตรีก็มีส่วนช่วยในการตัดต่อและลำดับภาพให้หนังของเขาอยู่ไม่น้อย

<"">
<"">

 

"คนอื่นเป็นหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่ผมเป็นนะ บีทของกลองมันจะมีจังหวะของมัน เวลาเราตัดภาพเราจะคิดตามจังหวะดนตรี ยิ่งฉากที่มีเสียงประกอบ เราก็จะไม่ใช่แค่ตัดไปตามเฟรม แต่เราจะรู้ว่าดนตรีเปลี่ยนตอนไหน ภาพควรเปลี่ยนยังไง" นวพลกล่าว

อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์มาหลายเรื่อง ทั้งรถไฟฟ้ามหานะเธอ ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนบท Top Secret วัยรุ่นพันล้าน รัก 7 ปี ดี 7 หน และภาพยนตร์เรื่อง Home หาก 36 ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกในชีวิตของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่ทั้งเขียนบทและกำกับเอง ก็ประสบความสำเร็จบนเวทีสากล ด้วยการคว้ารางวัลใหญ่ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

<"">

 

เขาเชื่อว่าเรื่องราวสามารถถ่ายทอดผ่านศิลปะได้หลากหลาย จึงไม่ยึดติดอยู่เพียงการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์เท่านั้น บทความ เรื่องสั้น ภาพยนตร์และภาพถ่าย จึงเป็นสื่อที่ เต๋อ นวพล ใช้บอกเล่าความคิดและส่งผ่านมุมมองของตัวเองสู่ผู้คน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง