น้ำทะเลเน่าเสียที่
ซากปลากระพงที่เลี้ยงในกระชังบริเวณปากคลองแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ยังคงมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก หลังจากเกิดปัญหาน้ำทะเลเน่าเสีย ส่งผลให้ปลากระพงของเกษตรกรกว่า 40 ราย ที่เลี้ยงไว้ตายทั้งหมด เช่นเดียวกับเกษตรที่เลี้ยงหอยแครง และหอยแมลงภู่จำนวนมากที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน
นายมานพ ญาณพิสุฐกุล ผู้อำนวยการส่วนสำรวจสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า กล่าวว่า สภาพน้ำในวันนี้ได้เจือจางลงมากแล้ว ต่างกับช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมาที่มีสีน้ำตาลเข้มมาก แต่ยังคงเน่าเสียอยู่ เนื่องจากค่าออกซิเจนในน้ำต่ำกว่าที่ปรกติ
เช่นเดียวกับที่จังหวัดเพชรบุรี เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สัตว์น้ำในทะเล รวมทั้งหอยแครง หอยแมลงภู่ และปลากระพง ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ตายทั้งหมด
นายชัยยศ สงวนทรัพย์ นายกเทศมนตรีตำบลบางตะบูน กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือร่วมกัน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และหาแนวทางเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ซึ่งจากการสำรวคุณภาพน้ำทะเล พบว่าน้ำทะเลมีค่าออกซิเจนต่ำกว่าปรกติอยู่ที่ 0.2 - 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ยังไม่สามารถสรุปชี้ชัดได้ว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นแท้จริงนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร โดยต้องนำน้ำไปตรวจวัดค่าอย่างชัดเจนอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ได้มีการทำหนังสือสรุปความปัญหาที่เกิดขึ้นยื่นเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีแล้ว เพื่อให้พิจารณาในการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ หากทางจังหวัดประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติก็จะสามารถนำงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยได้ในทันที
โดยพื้นที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มีฟาร์มเลี้ยงหอยแครง และหอยแมลงภู่ที่ขึ้นทะเบียนไว้จำนวน 881 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยง 14,000 ไร่ แยกเป็นหอยแครง 464 ราย และหอยแมลงภู่ 417 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าหอยที่เลี้ยงไว้ตายทั้งหมด