แรงเงาในมุมมองทางจิตวิทยา
มุตตา น้องสาวเป็นที่ชื่นชมเพราะเรียบร้อย อ่อนหวาน ส่วนมุนินทร์ แฝดอีกคนเชื่อว่าหากแสดงให้เห็นว่ามีความกล้าไม่ยอมใคร จึงจะได้รับการยอมรับ แม้เป็นฝาแฝดแต่เพราะได้รับการปฏิบัติแตกต่างในวัยเด็ก ทำให้ 2 คนมีนิสัยตรงกันข้าม
ขณะที่นพนภา ภรรยาหลวง รู้สึกเสมอว่าด้อยค่า กลัวสามีจะตีจากจึงแสดงออกด้วยความหึงหวงรุนแรง ตลอดจนใช้ทรัพย์สินซื้อใจ หากความพยายามดังกล่าวไม่อาจตอบสนองความบกพร่องในใจได้หากไม่เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อตัวเอง
ส่วนหนึ่งของละครดัง นำมาเสวนาผ่านมุมมองทางจิตวิทยา ในกิจกรรม Psychology Talk โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้รู้เท่าทันพฤติกรรมของตัวละคร
ฉากที่เพิ่มขึ้นในแรงเงาภาคนี้ คือการโพสต์คลิปภาพสะท้อนสังคมในปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในชีวิต ภาพรุนแรงที่ถูกนำมาเผยแพร่บ่อยครั้งทั้งในละคร และชีวิตจริงเป็นอีกพฤติกรรมที่นำมาพูดถึงในแง่ของจิตวิทยาสังคม เมื่อการมุงดูเป็นกลุ่ม ยิ่งทำให้เกิดความลังเลที่จะช่วยเหลือ แต่หากมีเพียงคนหนึ่งกล้าเข้าไปห้าม ก็เป็นไปได้ที่จะกระตุ้นให้คนอื่นช่วยเหลือเช่นกัน
กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าคิดเมื่อความอยากรู้อยากเห็น และสนุก มีมากกว่าความเห็นใจที่เพื่อนมนุษย์พึงมีต่อกัน แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ถ้ามีคนหนึ่งลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง
ฉากเร้าอารมณ์ด้วยความรุนแรงที่ตอบสนองความต้องการซึ่งไม่อาจทำได้ในชีวิตจริง เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมยังคงตอบสนองต่อละครประเภทนี้ หากละครที่ถูกปรับให้เข้ากับบริบทของยุคสมัย ก็ยังเป็นสื่อสะท้อนความคิด และสภาพจิตใจของคนในสังคมที่ต้องอาศัยการรับชมอย่างรู้เท่าทัน