ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คาดการณ์ลงคะแนนมติ อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามมาตรา 158

การเมือง
28 พ.ย. 55
04:09
573
Logo Thai PBS
คาดการณ์ลงคะแนนมติ อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามมาตรา 158

การลงคะแนนในวันนี้ตามมาตรา 158 กำหนดไว้ว่า คะแนนไม่ไว้วางใจจะต้องได้กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร นั่นคือมีอยู่ 493 คน นับกึ่งหนึ่งหรือครึ่งหนึ่งคือ 246 เสียงขึ้นไป หรือ อยู่ที่ 247 เสียง แต่ถ้าดูจากตัวเลขส.ส.ที่รัฐบาลมีอยู่ หาก 6 พรรคร่วมรัฐบาลเป็นเอกภาพถือว่าไม่เข้าข่ายที่จะได้คะแนน"ไม่ไว้วางใจ" ยิ่งถ้าบวกกับ ส.ส.ฝ่ายค้านที่สนับสนุนรัฐบาลอีกด้วย คะแนนเสียงเกิน 300 ก็เป็นไปได้

พรรคร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคมี ส.ส. 264 คน พรรคชาติไทยพัฒนา โดยนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคมีส.ส. 19 คน พรรคชาติพัฒนา โดยนายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค มีส.ส. 7 คน พรรคพลังชล โดยรองศาสตราจารย์เชาว์ มณีวงศ์ มี ส.ส. 7 คน พรรคประชาธิปไตยใหม่ โดยนายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคมี ส.ส. 1 คน พรรคมหาชน นายอภิรัต ศิรินาวิน หัวหน้าพรรคมีส.ส. 1 คน รวม 6 พรรคร่วมรัฐบาล มีเสียงทั้งหมด 299 เสียง

แต่ถ้าหักลบกับตำแหน่งทางการเมืองทั้งที่เป็นรัฐมนตรีในแต่ละพรรคและเป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรรวมถึงกรณีงดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว กรณีคดีใบแดงใบเหลือง และส.ส.ที่ป่วย อย่าง พลตรีสนั่น ขจรประศาสต์ เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ก็เท่ากับว่า รัฐบาลน่าจะมีอยู่ 276 - 286 เสียง

พรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคมีส.ส. 160 คน พรรครักประเทศไทย นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคมี ส.ส. 4 คน พรรคภูมิใจไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค มีส.ส. 34 คน พรรคมาตุภูมิ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน มีส.ส. 2 คน พรรครักษ์สันติ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ มีส.ส. 1 คน

แต่ถ้าดูจากการร่วมลงชื่อญัตติของเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจและญัตติถอดถอนจะเห็นว่ามีส.ส.ร่วมลงทั้งหมด 157 คน โดยเป็นส.ส.พรรครักประเทศไทย จำนวน 2 คน และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 155 คน ขาดหายเป็น 7 คน เป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 5 คน โดย 1 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ มีอาการป่วย 1 คน และอีก 3 คนเดินทางไปต่างจังหวัดและต่างประเทศ ขณะที่ พรรครักประเทศไทย 2 คน ขอลาออกจากพรรคไปแล้ว ดังนั้นหากยึดตามญัตติการลงมติรับรองญัตติของตัวเอง ก็น่าจะอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 158 เสียง และไม่เกินกว่า 161 เสียง

ที่ไม่นับพรรคภูมิใจไทยเพราะไม่มีแนวทางชัดเจนอยู่แล้วว่า จะลงมติ ไว้วางใจรัฐบาล แต่ก็ไม่แน่ใจ อาจไม่ลงไว้วางใจทั้งหมดก็เป็นได้ แต่ที่แน่นอนว่าแนวโน้มคือการลงมติไว้วางใจ นั่นคือส.ส.ในกลุ่มมัชฌิมา หรือกลุ่มที่ใกล้ชิดกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน น่าจะอยู่ที่จำนวน 7 คน โดยมีรายงานว่า เตรียมจะย้ายสังกัดไปพรรคเพื่อไทย และนี่ละตัวแปรหนึ่งที่จะเพิ่มคะแนนให้กับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย

นี่ยังไม่นับรวม1 เสียงของพรรคมาตุภูมิ 1 เสียงของพรรครักษ์สันติ ซึ่งหากนับรวมไปด้วย ก็น่าจะได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 278 - 288 เสียงเลยทีเดียว และหากมานับรวมกับ 7 เสียงของส.ส.ในกลุ่มมัชฌิมา ก็บวกไปอีก 284-294 เสียง หรือหากจะคิดจากตัวเลขเต็ม ๆ ของพรรคภูมิใจไทย ก็บอกได้ว่าเกิน 310 ขึ้นไปแน่นอน

และถ้าต้องเทียบกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 กรณีการลงมติไม่ไว้วางใจจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎร มีส.ส.ทั้งหมด 493 คน ขาดไป 7 คน เพราะหยุดปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากติดคดีใบเหลือง 5 คน คดีใบแดง 2 คน และคิดกึ่งหนึ่งหรือครึ่งหนึ่งเท่ากับต้องไม่น้อยกว่า 246 คนขึ้นไป แค่เสียงที่รัฐบาลมีอยู่ 6 พรรคก็ 264 เสียง และหักลบกับตำแหน่งการเมืองอยู่ที่ 262 เสียง ไม่ต้องลุ้นตัวแปรก็ผ่านแล้วค่ะ

แต่ถ้าใครได้น้อยกว่านี้หรือได้มากกว่านี้ ในทางการเมืองก็ต้องตรวจสอบกันค่ะว่า โดยเฉพาะผู้ที่ได้น้อย กว่าเสียงที่มีอยู่ คงต้องพิจารณาละค่ะว่า เกิดจากอะไร และส.ส.ในกลุ่มไหนถึงไม่ลงคะแนนให้ นั่นเป็นเพราะมารยาททางการเมืองภายในพรรค และ ภายในพรรคร่วมรัฐบาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง