ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตาความเปลี่ยนแปลงสื่อพม่า หลังปฏิรูปประเทศ

ต่างประเทศ
11 ธ.ค. 55
14:39
264
Logo Thai PBS
จับตาความเปลี่ยนแปลงสื่อพม่า หลังปฏิรูปประเทศ

การปฏิรูปในประเทศพม่า ส่งผลดีต่อสื่อมวลชน ที่ทำให้สิทธิเสรีภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น จนสื่อมวลชนหลายแขนงที่เคยต้องทำงานจากนอกประเทศ สามารถเปิดสำนักงานในประเทศพม่าได้ ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็ทำให้มีการตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของสื่อเช่นกัน

สำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยพม่า หรือ DVB, เว็บไซต์ข่าวอิระวดี และสำนักข่าวมิซสิมา ที่เคยต้องรายงานข่าวคราวความเคลื่อนไหวในพม่าจากประเทศอื่น ๆ สามารถเข้าไปเปิดสำนักงานในนครย่างกุ้งได้แล้ว หลังรัฐบาลประกาศการปฏิรูปประเทศ ให้เสรีภาพสื่อมวลชน รวมทั้งยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้นักข่าวของสื่อสำนักต่างๆ สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น

และในสัปดาห์นี้ นิตยสารอิระวดี ที่เคยเป็นสื่อฝ่ายตรงข้ามกับอดีตรัฐบาลทหารพม่า ก็ได้รับอนุญาตจากทางการ ให้ตีพิมพ์นิตยสารแจกจ่ายฟรีในเมืองใหญ่ ๆ ของประเทศได้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ก่อตั้ง และทำงานโดยใช้ฐานการผลิตที่จังหวัดเชียงใหม่ มานานถึง 20 ปี ซึ่งบรรณาธิการนิตยสารอิระวดีฉบับภาษาอังกฤษระบุว่า การตีพิมพ์นิตยสาร ถือเป็นการทดสอบรัฐบาลพม่า ภายใต้การนำของ พล.อ.เต็ง เส่ง ว่าจะสามารถยอมรับการรายงานข่าวอย่างเสรีของสื่อมวลชนได้มากน้อยเพียงใด

แม้นักข่าวในพม่าจะมีเสรีภาพในการทำงานมากขึ้น แต่สื่อที่เคยทำงานจากนอกประเทศ ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ของรัฐ โดยเฉพาะตามกระทรวง ได้มีการพูดคุย ตอบคำถามสื่อมวลชน และให้ข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย ผิดจากในสมัยอดีตรัฐบาลทหารที่ทุกอย่างเป็นความลับ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเหมือนฝ่ายตรงข้ามกัน กลับมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น และเริ่มมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า ส่งผลต่อความเป็นกลางในการทำหน้าที่ และทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง จนข่าวสารไม่เฉียบคมเหมือนตอนที่มีฐานการทำงานในต่างประเทศ

โดยเฉพาะในกรณีของสำนักข่าว DVB ที่เคยเปิดโปงประเด็นใหญ่ ๆ เช่น ความเสียหายหลังพายุไซโคลนนาร์กิส หรืออุโมงค์ลับในกรุงเนปิดอว์ แต่ตอนนี้กลับสร้างสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล และร่วมจัดการอบรมเรื่องสื่อสาธารณะ กับกระทรวงข่าวสาร ที่ผู้วิจารณ์มองว่า อาจส่งผลต่อเรื่องความอิสระในการทำหน้าที่

แต่ทางบรรณาธิการของ DVB ระบุว่า การที่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ จะยิ่งทำให้ข่าวมีความถูกต้องและเป็นกลางยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมา การทำงานของ DVB ไม่ค่อยจะได้ข้อมูลจากภาครัฐนัก แต่ก็ยอมรับว่าความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้สื่อข่าวที่พัฒนาในทางที่ดีขึ้น ก็อาจกลายเป็นประเด็นถกเถียงเช่นกัน

ขณะที่ทางนิตยสารอิระวดี ยืนยันหลักการในการทำหน้าที่เช่นเดิม คือ คงรูปแบบการทำงานในเชิงวิพากษ์ รูปแบบในการหาข่าว และจุดยืนของกองบรรณาธิการเช่นเดิม แต่ต้องใช้กลยุทธ์การทำงานแบบเหยียบเรือสองแคม คือต้องมีสำนักงานทั้งในพม่า และคงสำนักงานใหญ่ไว้ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะสถานการณ์ในพม่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง