เผยผลสำรวจนักธุรกิจทั่วโลก ระบุ ปีนี้เศรษฐกิจโลกน่าจะซบเซา
การประชุม"เวิร์ล อีโคโนมิค ฟอรั่ม" ซึ่งเป็นการประชุมเศรษฐกิจโลกประจำปี จะเริ่มต้นวันนี้ (23 ม.ค.) โดยประเด็นสำคัญของการประชุมคือแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์ความรุนแรงในซีเรียและสาธารณรัฐมาลี ในขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจทั่วโลก ระบุว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกน่าจะยังอยู่ในภาวะซบเซา
ตัวแทนภาคธุรกิจทั่วโลก 2,500 คน เดินทางถึงเมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งพิธีเปิดการประชุมจะมีขึ้นในวันนี้ (23 ม.ค.) และจะมีการประชุมต่อเนื่อง 5 วัน โดยจะมีประมุขและผู้นำจาก 45 ประเทศมาเข้าร่วมการประชุม โดยประเด็นหลักๆ ของการประชุม คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ,แลกเปลี่ยนความเห็นและเสนอแนะวิธีรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ
รวมถึงความขัดแย้งในซีเรียและสาธารณรัฐมาลี และการพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งนายบัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ, บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ จะขึ้นพูดบนเวทีด้วย
นอกจากนี้มีการเปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจทั่วโลก เกี่ยวกับความคาดหวังของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจัดทำโดยบริษัท"ไพรซ์วอเตอร์เฮ้าท์คูเปอร์" โดยสอบถามความเห็นของซีอีโอในภาคอุตสาหกรรมการเงิน 1,330 คน ใน 68 ประเทศ ปรากฎว่าร้อยละ 36 มั่นใจว่าธุรกิจของตัวเองจะไปได้ดีในช่วง 12 เดือน ซึ่งน้อยกว่า 2 ปีที่ผ่านมาที่นักธุรกิจมีมั่นใจถึง ร้อยละ 40 และร้อยละ 48 สะท้อนว่าความมั่นใจของนักธุรกิจโลกลดลงเรื่อยๆ
โดยนักธุรกิจที่มองการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในแง่ร้ายมากที่สุด คือ ยุโรปตะวันตก รองลงมาคืออเมริกาเหนือ,เอเชียแปซิฟิคและแอฟริกา ส่วนนักธุรกิจที่มองโลกในแง่ดีมากที่สุด คือ นักธุรกิจของรัสเซีย ที่มีความเชื่อมั่น ร้อยละ 66 ว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกดี
นอกจากนี้ยังมีการสอบถามความเห็นว่า ประเทศใดที่น่าจะมีบทบาทสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปรากฎว่าอันดับ 1คือ จีน ตามด้วยสหรัฐฯ, บราซิล, เยอรมนี,ญี่ปุ่นและอินเดีย นอกจากนี้เป็นปีแรกอินโดนีเซียติดโผ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจโลก