สอท.ยอมรับค่าจ้าง300บ.ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาข้ออ้าง 300 บาทกับการเลิกจ้าง ทั้งๆที่ผลประกอบการดีว่า ผู้ประกอบการต้องนำค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทมาคำนวณเป็นต้นทุนและประเมินรายได้ที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2556 เพื่อวางแผนรับมือ
โดยแรงงานไร้ฝีมือจะถูกปรับลดก่อน พร้อมกับยอมรับว่าการขึ้นค่าจ้าง จะทำให้ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดปิดกิจการ แล้วย้ายมาเปิดกิจการในกทม.แทน เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง
ด้านคณะกรรมการสมานฉันท์เเรงงานไทย ยื่น 5 ข้อเสนอเรียกร้องให้กระทรวงแรงงาน แก้ปัญหาการเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด หลังข้อร้องเรียนส่วนใหญ่พบว่า ผู้ประกอบการ มักใช้ข้ออ้างเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300บาท มาเป็นเหตุผลในการเลิกจ้าง
ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรณีได้รับค่าจ้างไม่เป็นธรรม พบว่า สาเหตุการเลิกจ้างส่วนใหญ่ ผู้ประกอบหลายราย มักอ้างถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทำให้ต้องปิดกิจการ เพราะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เเต่จากการตรวจสอบข้อมูลรายรับของบริษัท ที่อ้างตามข้างต้น พบว่าหลายเเห่งมีกำไรมากกว่าครึ่ง
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงเรียกร้องให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่ ต้องมีมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกผลกระทบจากการเลิกจ้าง ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองเเรงงานอย่างเคร่งครัด
รัฐบาลไม่ควรปัดความรับผิดชอบ ให้ลูกจ้างเจรจาต่อรองสิทธิกับนายจ้างเพียงลำพัง ต้องจัดหางานหรืออาชีพให้กับเเรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยทันทีและสุดท้ายให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสถานประกอบการที่เลิกจ้างคนงาน เเละปิดกิจการ เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ เเละค้นหาข้อเท็จจริงของบริษัทเเต่ละเเห่งที่เลิกจ้างว่าเป็นเพราะสาเหตุใด
นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงเเรงงาน ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการจะอ้างการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท เพื่อปิดกิจการและโยนความรับผิดชอบให้ภาครัฐ
เนื่องจากข้อมูลการเลิกจ้างงานในระบบประกันสังคมตั้งแต่ปี 2552-2555 พบว่า อัตราการว่างงานยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ประมาณ 5,000-7,000 คน/เดือน จึงอาจเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสาเหตุการปิดกิจการมาจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท
นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่ให้ความรู้ข้อกฎหมายกับนายจ้างและลูกจ้างทุกพื้นที่ และหากพบว่าสถานประกอบการใด ไม่จ่ายค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนด ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย