นักวิชาการมองเหตุโจมตีทหาร สะท้อนปม
ลูกชายที่ยังไม่หย่านมแม่และลูกสาววัย 7 ขวบ เป็นภาระของนางสาวรุสนี แมเลาะ ซึ่งเป็นหม้ายตั้งแต่วัยสาว หลังนายมะรอโซ จันทรวดี ผู้เป็นสามี ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม ขณะนำกำลังเข้าโจมตีฐานปฎิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 ชุดเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ในฐานะของภรรยาชาหีด หรือผู้นำ ตามความคิดของชาวบ้านในพื้นที่ส่วนหนึ่ง เธอเตรียมใจที่จะเผชิญสภาวะเช่นนี้มาแต่ต้น
รุสนี เล่าว่า สามีเคยถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายระหว่างถูกจับกุมในเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ และเพื่อนในวัยเด็กเสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกัน เหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยน ทำให้เขาหยิบอาวุธมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ ในจำนวนผู้ก่อความไม่สงบที่เสียชีวิต 16 คน หลายคนมีประวัติเคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเคยตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีความมั่นคง ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดไม่เคยถูกลงโทษ ความคิดและความเชื่อเหล่านี้ จึงเป็นการตอกย้ำให้ประชาชนในพื้นที่บางคนมีอคติต่อรัฐ
"หากจะมองไปข้างหน้า นอกจากรัฐจะต้องลดการสร้างเงื่อนไขแล้ว ผู้ที่จะมารับผิดชอบการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจเป็นผู้ที่ต้องเข้าใจบริบทของพื้นที่ ทั้งในเรื่องวิถีชีวิต และจิตวิญญาณ" อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าว
ทั้งนักวิชาการและประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพย้ำว่า การเสียชีวิตของผู้ก่อความไม่สงบมากถึง 16 คน ในคราวเดียวกัน และส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ใกล้ฐานที่ตั้งทหาร เป็นการฉายภาพให้สังคมรับรู้ว่า ยังมีผู้ที่คิดต่างกับรัฐอยู่จำนวนไม่น้อย และที่สำคัญ ทั้งฝ่ายรัฐและผู้ก่อความไม่สงบ ไม่สามารถยุติความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยการใช้ความรุนแรงเข้าหากันได้