ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ความกลัวภัยอุกกาบาตในภาพยนตร์

Logo Thai PBS
ความกลัวภัยอุกกาบาตในภาพยนตร์

เชื่อกันว่าหากอธิษฐานกับดาวตกจะนำโชคมาให้ แต่ความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ทำให้เรารู้ว่าการเข้าใกล้ของวัตถุขนาดใหญ่จากนอกโลก มักนำมาซึ่งความน่าสะพรึงกลัว ภาพยนตร์แนวนิยายวิทยาศาสตร์นำความกลัวเช่นนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วหลายเรื่อง

ฉากต่อกรยิ่งใหญ่ระหว่างมนุษย์ที่ใช้จรวดขีปนาวุธนิวเคลียร์ทุกลูกที่มีอยู่บนโลก หวังทำลายอุกกาบาตขนาดยักษ์ที่กำลังพุ่งชนโลก คือฉากจบอลังการของ The Day the Sky Exploded หนังไซไฟปี 1958 ผลงาน มาริโอ บาว่า ผู้กำกับภาพยนตร์ ชาวอิตาเลียน นับเป็นครั้งแรกๆ ที่ผู้ชมได้เห็นความพยายามของมนุษย์ในการปกป้องเผ่าพันธุ์ตนจากภัยคุกคามจากนอกโลกบนแผ่นฟิล์ม

ความหวาดกลัวการสิ้นสลายของโลกถูกฮอลลีวูดนำไปเป็นพล็อตสร้างภาพยนตร์หลายยุคสมัย ทั้ง When Worlds Collide ภาพยนตร์รางวัลออสการ์สาขาเทคนิคพิเศษปี 1951 เล่าถึงการอพยพผู้โชคดีที่ถูกล็อตเตอรีไปอาศัยบนดาวเคราะห์ดวงใหม่หลังโลกถูกทำลายโดยดาวฤกษ์ที่โคจรมาปะทะ หรือชะตากรรมที่ดีกว่าใน Meteor หนังหายนะปี 1979 ที่เสนอภาพความร่วมมือของคู่อริในช่วงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และโซเวียต ที่พร้อมใจกันหันหัวรบเล็งไปยังอีกฝ่าย เพื่อร่วมกันโจมตีดาวหางที่กำลังตรงเข้ามาทำลายล้างทุกชีวิตบนโลก

พล็อตของหนังหายนะคลาสสิกสร้างแรงบันดาลใจต่อการสร้างภาพยนตร์หายนะนอกโลกในยุคหลัง โดยเฉพาะในปี 1998 ที่มีการสร้างหนังอุกกาบาตชนโลกมาถึง 2 เรื่องคือ Deep Impact และ Armageddon ขณะที่ Deep Impact ของผู้กำกับหญิง มิมิ ลีเดอร์ ทำรายได้น้อยกว่า แต่ได้รับคำชมเรื่องการถ่ายทอดความสัมพันธ์ของตัวละครในวาระสุดท้ายของโลกอย่างลึกซึ้ง และมีความถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์มากกว่า

ส่วน Armageddon ผลงานกำกับของ ไมเคิล เบย์ เป็นภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดของปี 1998 กลับถูกบุคลากรของนาซ่าจับผิดเรื่องการบิดเบือนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ถึง 168 จุด โดยนักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ของอังกฤษได้คำนวณว่า หากจะทำให้อุกกาบาตในหนังแตกเป็น 2 ส่วนได้จริง ต้องใช้ระเบิดที่มีพลังงานถึง 800 ล้านล้านเทราจูล ขณะที่พลังงานจากระเบิดปรมาณูมากที่สุดเท่าที่เคยทดสอบบนโลกมีพลังงานเพียง 4 แสนเทราจูลเท่านั้น

หลายปีมานี้ความหวาดกลัวภัยนอกโลกลดลง ส่งผลให้หนังหายนะจากอวกาศที่เน้นสเปเชียล เอฟเฟคถูกสร้างเป็นหนังทุนต่ำสำหรับฉายแบบจำกัดโรง หรือใช้เป็นเนื้อเรื่องเสริมสำหรับหนังที่ต้องการเสนอชีวิตผู้คนที่กำลังเผชิญกับวาระสุดท้าย ทั้งหนังชีวิตใน Melancholia หรือหนังตลกใน Seeking a Friend for the End of the World

โดยปัจจุบันผู้สร้างหันไปผลิตหนังหายนะที่เกิดจากภัยใกล้ตัวอย่างภาวะโลกร้อนโดยน้ำมือของมนุษย์เป็นหลัก แต่ข่าวการระเบิดของอุกกาบาตขนาดสิบตันบนชั้นบรรยากาศทางตอนเหนือของรัสเซีย ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บนับพันคน และกำลังสร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลกขณะนี้ อาจทำให้ฮอลลีวูดกลับมาสนใจสร้างหนังหายนะจากนอกโลกอีกครั้งหนึ่ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง