ก่อนลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ปัญหาความไม่สงบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ปฏิเสธความรู้สึกหนักใจต่อกรณีการแต่งตั้ง "กลุ่มวาดะห์" ซึ่งเป็นอดีตส.ส.ในพื้นที่ เป็นที่ปรึกษาการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการตั้งที่ปรึกษา มีอยู่แล้วทุกระดับ จึงควรให้เวลาในการทำงาน
ผู้บัญชาการทหารบกยังกล่าวว่า แนวทางการใช้มาตรา 21 ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งเปิดให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้ารายงานตัวและเข้าสู่การอบรมเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคง โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมปกตินั้นถือเป็นการดำเนินการที่พยามยามผลักดันให้เกิดขึ้นมาตั้งแต่แรก โดยทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้มาจากการชี้นำของฝ่ายใด
พล.อ.ประยุทธ์เปิดเผยด้วยว่า มีความจำเป็นที่ต้องลงพื้นที่ เพื่อเน้นย้ำนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ให้ทุกฝ่ายความเข้าใจตรงกันในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์เดิม คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา
แม้ในทางปฏิบัติอาจต้องปรับให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ แต่น้ำหนักสำคัญ ยังขึ้นอยู่กับภาพรวมเพื่อความยั่งยืน ไม่ใช่มองแค่ปัญหาเหตุร้ายรายวันเท่านั้น
นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทย ฮิวแมนไรท์วอทช์ มองว่า การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 ของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่า สถานการณ์ภาคใต้ไม่ได้เลวร้ายมากเกินไป และ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่หลงผิด เข้ามอบตัว
อย่างไรก็ตามนายสุณัยตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีข้อขัดข้องบางประการที่ทำให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบไม่เข้ามามอบตัว โดยอาจเกี่ยวข้องกับการคัดค้านกระบวนการบางอย่าง หรือไม่มั่นใจในความปลอดภัย
เนื่องจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีแนวทางที่ชัดเจนในการลงโทษผู้ที่ละทิ้งขบวนการเดียวกัน ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงควรมีมาตรการดูแลความปลอดภัยครอบครัวของผู้ก่อความไม่สงบด้วย