<"">
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตือนรัฐบาลกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ภายใต้ระบบงบประมาณเพื่อความรอบคอบ พร้อมระบุว่าการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาทมิใช่เรื่องฉุกเฉิน
ในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา (10 มี.ค.) นายธีระชัย ภูวนารทนุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ภาพและข้อมูลลงในสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ้ค "Thirachai Phuvanatnaranubala" โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ชี้การลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน จึงไม่มีเหตุผลที่จะหลบเลี่ยงกระบวนการงบประมาณ ซึ่งมีข้อความดังนี้
<"">
"มีผู้สื่อข่าวสอบถามผมว่ามีความเห็นกรณีที่รัฐบาลจะกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทอย่างไร
1 ผมไม่คัดค้านที่จะมีการลงทุนพัฒนาประเทศ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการออกเป็นกฎหมาย เพื่อให้อยู่นอกระบบงบประมาณ
2 รัฐธรรมนูญกำหนดช่องทางที่รัฐบาลจะใช้เงินไว้ดีแล้ว โดยให้ทำผ่านกระบวนการงบประมาณ ซึ่งมีทั้งงบประจำ และงบลงทุน โดยจะผูกพันงบข้ามไปกี่ปีก็ได้
3 ขั้นตอนการตั้งงบลงทุนในงบประมาณนั้น เริ่มที่กระทรวงที่จะเสนอโครงการ แล้วส่งให้สภาพัฒน์พิจารณาในแง่ความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งจะพิจารณากันตามลำดับชั้น เริ่มจากระดับเจ้าหน้าที่ ทำการศึกษาละเอียด แล้วจึงกลั่นกรองเสนอผู้บังคับบัญชา จึงมีความรอบคอบ
4 เมื่อผ่านสภาพัฒน์แล้ว สำนักงบประมาณก็จะพิจารณาในแง่งบประมาณอีกชั้นหนึ่ง หากเห็นว่ามีการซ่อน หรือแฝงรายการที่แปลกปลอมเข้ามา ก็จะท้วงติงตัดออกไป ขั้นตอนการพิจารณาก็จะทำจากระดับเจ้าหน้าที่ มีการศึกษาละเอียดเช่นเดียวกับสภาพัฒน์ จึงมีการพิจารณาโดยสองหน่วยงานนี้อย่างรอบคอบ จากระดับเจ้าหน้าที่ขึ้นตามลำดับชั้น
5 แต่กรณีนอกงบประมาณนั้น การดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งกรณีรัฐบาลก่อนและรัฐบาลนี้ ล้วนใช้วิธีตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อกลั่นกรองนำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยไม่ผ่านสองหน่วยงานหลักดังกล่าว
6 ถึงแม้คณะกรรมการเฉพาะกิจดังกล่าว จะมีผู้บริหารระดับสูงของสภาพัฒน์กับสำนักงบประมาณ นั่งเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วยก็ตาม แต่การพิจารณาเรื่อง ที่เสนอให้ตัดสินใจในที่ประชุม ย่อมไม่สามารถมีการพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน ได้ดีเท่ากับการทำงานตามลำดับชั้นในแต่ละองค์กร
7 การพิจารณานอกกระบวนการงบประมาณ ด้วยขบวนการที่ลดขั้นตอน ทำให้การอนุมัติโครงการทำได้เร็วขึ้นก็จริง แต่มีความเสี่ยงต่อการหละหลวมมากขึ้น เพราะเดิมแต่ละองค์กรต้องรับผิดชอบการพิจารณา ให้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบเต็มๆ เปลี่ยนเป็นรับผิดชอบกันเป็นคณะ
8 หากเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน ก็อาจจะพอรับได้ แต่การลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน จึงไม่มีเหตุผลที่จะหลบเลี่ยงกระบวนการงบประมาณแต่อย่างใดครับ
ภาพ:เฟซบุ้ค "Thirachai Phuvanatnaranubala"
ข้อมูล:เฟซบุ้ค "Thirachai Phuvanatnaranubala"