ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

18 เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ กดดัน"โอบามา"ให้หนุนสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ

ต่างประเทศ
15 มี.ค. 56
06:59
127
Logo Thai PBS
18 เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ กดดัน"โอบามา"ให้หนุนสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ

กลุ่มผู้รับรางวัลโนเบล 18 องค์กร/คน ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา (Barack Obama) แห่งสหรัฐอเมริกาต้องเป็นผู้นำในสนับสนุนให้เกิดสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) ในระดับโลกที่มีประสิทธิภาพและเป็นจริง

 จดหมายฉบับดังกล่าวถูกส่งมอบให้ประธานาธิบดีโอบามาถึงทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 ก่อนจะมีการเจรจาในวันที่ 18 มีนาคมที่องค์การสหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ก เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับสนธิสัญญาฉบับประวัติศาสตร์ ที่พยายามควบคุมการค้าอาวุธระดับโลกที่ย่อหย่อนมากในปัจจุบัน

           
 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (International Physicians for the Prevention of Nuclear War) และนายออสการ์ อาเรียส (Dr. Óscar Arias) เป็นส่วนหนึ่งของผู้รับรางวัลโนเบล และเป็นผู้นำงานด้านสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม และการลดกำลังอาวุธในทวีปแอฟริกา อเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ที่ร่วมลงชื่อในจดหมายฉบับดังกล่าวด้วย ตอนหนึ่งของข้อความในจดหมายระบุว่าสหรัฐฯ  และประเทศผู้ขายอาวุธอื่นๆ ต้องมีหน้าที่ทางศีลธรรมและความมั่นคงแห่งชาติที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดสนธิสัญญา (ที่เข้มแข็ง) เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และช่วยรักษาชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งด้วยอาวุธ อันเป็นผลมาจากการค้าอาวุธระหว่างประเทศที่ขาดความรับผิดชอบ
             
“ไม่อาจยอมให้คนทั่วโลกนับแสนเสียชีวิต พวกเขาถูกยิงตายทุกปี หลายคนล้านคนทุพลภาพและต้องเจ็บปวดอย่างมากทางจิตใจ” จดหมายระบุ 
            
ดร.ออสการ์ อาเรียส ซานเชส (Dr. Óscar Arias Sánchez) อดีตประธานาธิบดีคอสตาริกาและผู้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2530 กล่าวว่าความท้าทายเฉพาะหน้าไม่ใช่แค่การผลักดันให้มีการลงนามในสนธิสัญญาเท่านั้น
            
“ความท้าทายเฉพาะหน้าคือการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อความรุนแรง ความท้าทายเฉพาะหน้าคือการผลักดันให้เป้าหมายบรรลุผล ทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งต้องการการทำงานอย่างจริงจังและทันท่วงทีของพวกเรามากกว่าอย่างอื่น”
           
 ข้อความในจดหมายยังระบุอีกว่า การควบคุมการค้าอาวุธทั่วไประดับโลกที่ย่อหย่อนในปัจจุบัน ซึ่งมีมูลค่ากว่าเจ็ดหมื่นล้านเหรียญในแต่ละปี เป็นปัจจัยส่งเสริมความขัดแย้ง ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง สร้างหายนะด้านสุขภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การที่โลกยังไม่มีหลักเกณฑ์ระดับสากลที่มีผลผูกพันตามกฎหมายเพื่อควบคุมการค้าอาวุธทั่วไปในระดับโลก นับเป็น “ความล้มเหลวอย่างใหญ่หลวง” ของประชาคมสากล
            
นพ. โรเบิร์ต ตองกา (Dr. Robert Mtonga) ประธานร่วม International Physicians for the Prevention of Nuclear War ที่รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2528 กล่าวว่า ในฐานะแพทย์จากแอฟริกา เคยได้เห็นกับตาถึงความทุกข์ทรมานจากความรุนแรงของปืน การค้าอาวุธที่ขาดการควบคุมระดับโลกและในทุกระดับ ส่งผลให้เกิดหายนะด้านสุขภาพระดับโลก        
            
“สนธิสัญญาซื้อขายอาวุธที่เข้มแข็งจะเป็นก้าวย่างสำคัญที่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บล้มตายที่ไม่จำเป็นจากการขัดกันด้วยอาวุธ แรงสนับสนุนจากประธานาธิบดีโอบามาจะเพิ่มโอกาสที่จะบรรลุความตกลงเพื่อมนุษยธรรมที่เร่งด่วนฉบับนี้”
           
 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2520 พยายามส่งสัญญาณเตือนหลายครั้งถึงความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์สำคัญในสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธ ซึ่งกำหนดให้รัฐต่าง ๆ ต้องยุติการส่งมอบอาวุธระหว่างประเทศ กรณีที่มีความเป็นไปได้ว่าอาวุธเหล่านั้นจะถูกใช้ไปเพื่อก่ออาชญากรรมสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขบวนการสิทธิมนุษยชนได้เคลื่อนไหวมาเกือบสองทศวรรษแล้ว เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธที่มีเนื้อหาสำคัญมุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประทศส่งออกอาวุธใหญ่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบามา อยู่ในสถานะพิเศษที่จะเป็นผู้นำเพื่อส่งเสริมให้เกิดสนธิสัญญาที่เข้มแข็ง
            
นายไบรอัน วูด (Brian Wood) หัวหน้าแผนกควบคุมอาวุธและสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า ตอนที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลมอบรางวัลสาขาสันติภาพให้กับประธานาธิบดีโอบามาในปี 2552 มีจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งคือการเชิดชูความปรารถนาของเขาที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในประเทศของเขาและสังคมโลก สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นบททดสอบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งต้องพิสูจน์ว่า เขาจะสามารถผลักดันให้เกิดกฎหมายระหว่างประเทศที่น่าเชื่อถือ เพื่อเข้ามาควบคุมการซื้อขายอาวุธระหว่างประเทศอย่างไร้ความรับผิดชอบได้หรือไม่
            
“ทุกเมืองหลวงในโลกกำลังจับตามองและเฝ้ารอ หลายล้านชีวิตได้ถูกทำลายไปทุกปีจากการค้าอาวุธระดับโลกที่กระตุ้นให้เกิดการทารุณกรรมและการละเมิดสิทธิ บรรดาเหยื่อของความรุนแรงเผชิญกับความทุกข์ยากมาพอแล้ว ประชาคมโลกไม่อาจยอมรับให้สนธิสัญญาฉบับนี้มีข้อบกพร่องและย่อหย่อนอีกต่อไปได้”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง