เปิดมาตรฐาน
การแข่งขันตะกร้อไทยแลนด์ลีกจะเริ่มเปิดฉากขึ้นในวันที่ 27 เมษายน เป็นครั้งที่ 11 ของการแข่งขัน และกีฬาตะกร้อพยายามที่จะมีการปรับมาตรฐานตะกร้อไทยแลนด์ลีกให้เป็นอาชีพตามมาตรฐานที่ กกท. กำหนดไว้ ซึ่งกฎระเบียบการประเมินได้ลอกแบบมาจากฟุตบอลอาชีพ
การส่งทีมเข้าแข่งขันตะกร้อไทยแลนด์ลีกทั้ง 10 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน ที่จะต้องรับเงินบำรุงทีมจาก การกีฬาแห่ปงระเทศไทย หรือ กกท. จำนวนทีมละ 500,000 บาท ต้องทำตามข้อกำหนดมาตรฐานของ กกท. สำหรับกีฬาอาชีพที่ได้มีการกำหนดไว้ โดยใช้มาตรฐานของฟุตบอลโตโยต้าไทยพรีเมียร์ลีกมาเป็นแบบอย่าง สมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทยถึงจะออกใบอนุญาตให้ลงแข่งขันได้ ซึ่งได้กำหนดมาแล้ว 2 ฤดูกาล แต่ข้อกำหนดส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำได้
แต่ในปีนี้สมาคมตะกร้อยืนยันว่า จะต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้นและได้มีการปรับลดลงมาให้เข้ากับทีมตะกร้อในไทยแลนด์ลีกที่สามารถทำได้จริง ซึ่งคณะกรรมการได้กำหนดแบ่งเอาไว้เป็นระดับในแต่ละหัวข้อ
ถ้ากำหนดเป็น A นำหน้าเป็นสิ่งที่สโมสรต้องดำเนินการ ถ้าเป็น B ให้ดำเนินการหลังจากที่คณะกรรมการไปตรวจสอบ และถ้าเป็น C ให้ทำก็ได้หรือไม่ทำก็ได้ ซึ่งพิจารณาข้อกำหนดมาตรฐานทีมตะกร้ออาชีพของ กกท. ที่สมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทยได้ตั้งเอาไว้ มีข้อกำหนดข้อ C มากกกว่าข้อ A และ B
โดยข้อกำหนดที่ทีมตะกร้อจะต้องมีขั้นพื้นฐาน การแต่งตั้งเฮดโค้ช,ผู้ช่วย,สัญญาจ้างนักกีฬาสต้าฟโค้ช, มีบัญชีรายรับรายจ่ายตรวจสอบได้, สนามแข่งขันมีแสงสว่างเพียงพอ ส่วนข้อกำหนดข้อ B ที่ให้ดำเนินการภายหลังจากคณะกรรมการตรวจสอบ อย่างเรื่องแผนการรักษาความปลอดภัย การจัดทำงบดุลกำไร-ขาดทุนของสโมสร ขณะที่ข้อกำหนดข้อ C เรื่องการทำทีมเยาวชน, การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สมาคมตะกร้อยังอนุโลมให้ทุกทีมในตะกร้อลีกไม่ต้องทำเพื่อที่จะสามารถส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันได้ เพราะหากกำหนดกฎเกณฑ์ตามมาตรฐานกีฬาอาชีพของ กกท. เพื่อที่จะได้รับเงินสนับสนุนบำรุงทีมในแต่ละทีม อาจจะไม่มีทีมใดสามารถรับเงินบำรุงทีมได้ เพราะหลายทีมยังไม่มีการดำเนินงานแบบเป็นอาชีพแท้จริง