ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อดีต ส.ส.ร.ชี้ "ส.ส.-ส.ว."เสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา หวังผ่าทางตัน ม.291

20 มี.ค. 56
13:14
25
Logo Thai PBS
อดีต ส.ส.ร.ชี้ "ส.ส.-ส.ว."เสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา หวังผ่าทางตัน ม.291

อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ปี 2550 ตั้งข้อสังเกตว่า สมาชิกรัฐสภากำลังถึงทางตันในการเดินหน้าลงมติเห็นชอบหรือวาระที่ 3 ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยศาสตราจารย์ลิขิต ธีรเวคิน เชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้วฝ่ายนิติบัญญัติคงต้องค้างร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้จนสิ้นสุดวาระ แต่นายเดโช สวนานนท์ ชี้ว่า การเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รายมาตรา โดยเฉพาะการแก้มาตรา 68 คือการแก้ปัญหาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ที่ค้างอยู่ในรัฐสภามาเกือบ 1 ปี

ส.ส.และส.ว.ผู้ร่วมลงชื่อรับรองร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ยืนยันว่า เป็นเจตนาร่วมกันที่จะแก้ไขมาตราที่จำเป็นเร่งด่วนต้องแก้ไขก่อน โดยปราศจากข้อแลกเปลี่ยนทางการเมือง ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ปฏิเสธที่จะนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มาพิจารณาในคราวเดียวกันกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แบบรายมาตรา ที่สมาชิกรัฐสภายื่นญัตติไว้ในวันนี้ (20 มี.ค.)

<"">
<"">

ส.ส.248 คนและ ส.ว.60 คน รับรองร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ว่า ด้วยการยุบพรรค เพื่อยกเลิกบทลงโทษตัดสิทธิ์ทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรค และการยุบพรรค รวมถึงมาตรา 68 ว่าด้วยการล้มล้างการปกครอง เพื่อกำหนดการร้องเรียนผ่านอัยการสูงสุดฝ่ายเดียว

ขณะที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่าด้วยหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ มีส.ส. 248 คนและส.ว.62 คน ลงชื่อรับรองการแก้ไข โดยคงพระราชอำนาจในการทำหนังสือสันติภาพและสงบศึก รวมถึงหนังสือสัญญาที่เปลี่ยนแปลงอาณาเขต อธิปไตย หรือเขตอำนาจ ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งตัดเงื่อนไขการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศกรณีเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและการค้าการลงทุนออกไป พร้อมเพิ่มความว่า หากหนังสือนั้น ต้องตรากฎหมายรับรอง ต้องได้รับความเห็นจากรัฐสภาด้วย
 

<"">
<"">

ส่วน ส.ส. 248 คน และ ส.ว.55 คน รับรองร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 111, ม.112, ม.115,ม.117,ม.118,ม.120 และ ม. 241 เพื่อเปลี่ยนที่มาของ ส.ว.จากเลือกตั้งและสรรหา รวม 150 คน เป็นการเลือกตั้งทั้งหมด และยกเลิก ม.113 และ ม.114 ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาทิ้ง

ประธานรัฐสภา ยืนยันว่า จะไม่นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ มาพิจารณาในคราวเดียวกัน กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอใหม่ในวันนี้ (20 มี.ค.)
 

<"">
<"">

ศาสตราจารย์ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต ชี้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ม. 291 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร. และการแก้รัฐธรรมนูญ รายมาตราเป็นคนละเรื่องกัน และชี้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติ จะไม่ตัดสินใจลงมติเห็นชอบหรือวาระที่ 3 ของร่างแก้รัฐธรรมนูญ ม. 291 ที่ค้างอยู่ เพราะหวั่นเกรงผลกระทบด้านกฎหมายที่จะตามมา แต่จะปล่อยทิ้งค้างไว้ จนสิ้นสุดวาระของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตกไปตามกลไลของรัฐสภาและจะกลายเป็นเหตุผลอ้างอิงชี้แจงต่อมวลชนที่สนับสนุน ว่าไม่สามารถทำตามสัญญาการหาเสียงได้ เพราะเงื่อนไขของกฎหมาย

นายเดโช สวนานนท์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เชื่อว่า การแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา ซึ่งมีการเสนอแก้มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ มีนัยทางการเมือง โดยเฉพาะการปิดช่องว่างของรัฐธรรมนูญ ที่จะยื่นเรื่องกล่าวหาล้มล้างการปกครอง ซึ่งถือเป็นการเปิดทางให้รัฐสภาได้ลงมติในวาระที่ 3 ของร่างแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ และการแก้รัฐธรรมนูญ แบบรายมาตรา จึงเป็นเหตุผลสำคัญของการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพราะเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่รัฐสภา ยังคงค้างไว้ในรัฐสภาจนถึงวันที่สามารถลงมติเห็นชอบได้

แต่อดีต ส.ส.ร. ปี 2550 ทั้งศาสตราจารย์ลิขิตและนายเดโช เชื่อตรงกันว่า บริบทของการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ แบบรายมาตรา คือการขับเคลื่อนของสมาชิกรัฐสภา เพื่อหาทางออกให้กับร่างแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในรัฐสภานานเกือบ 1 ปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง