ยูเอ็น โหวตผ่าน ห้ามขนย้ายอาวุธข้ามประเทศใช้ล้างเผ่าพันธุ์ ในสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธ
องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ "สิทธิมนุษยชน" เป็นหัวใจของสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธ ฉบับประวัติศาสตร์
รัฐบาลประเทศต่างๆ ซึ่งประชุมกันที่องค์การสหประชาชาติ ลงคะแนนเสียงท่วมท้นสนับสนุนสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) ซึ่งห้ามการส่งมอบอาวุธทั่วไป (conventional weapons) ไปยังประเทศอื่น กรณีที่ทราบว่าอาวุธเหล่านั้นจะถูกใช้เพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือสงคราม
โดยเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 ตามเวลาท้องถิ่น ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ รัฐภาคี 154 แห่งลงคะแนนเสียงรับรองสนธิสัญญาฉบับนี้ ไม่กี่วันหลังจากอิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรียแสดงเจตนาร้ายที่จะสกัดกั้นไม่ให้มีการรับรองสนธิสัญญาฉบับนี้ ประเทศทั้งสามแห่งต่างละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกแทรกแซงด้วยมาตรการต่าง ๆ จากองค์การสหประชาชาติ และยังออกเสียงคัดค้านสนธิสัญญาฉบับนี้ในวันนี้ โดยมีรัฐภาคีที่งดออกเสียงอีก 23 แห่ง
นายไบรอัน วูด (Brian Wood) ผู้จัดการแผนกควบคุมอาวุธและสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาว่า โลกเฝ้ารอสนธิสัญญาประวัติศาสตร์ฉบับนี้มาเป็นเวลานาน หลังการรณรงค์ต่อเนื่องหลายปี รัฐส่วนใหญ่เห็นชอบและรับรองสนธิสัญญาระดับโลก ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้มีการขนย้ายอาวุธไปยังประเทศหนึ่ง ในกรณีที่อาวุธเหล่านั้นจะถูกใช้เพื่อการทารุณกรรม
“แม้ว่าอิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรียแสดงเจตนาร้ายที่จะขัดขวางสนธิสัญญาฉบับนี้ แต่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกแสดงความสนับสนุนอย่างเข้มแข็งต่อสนธิสัญญาที่ช่วยชีวิตมนุษย์ และมุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”
สนธิสัญญาฉบับนี้ยังกำหนดให้รัฐบาลทุกประเทศประเมินความเสี่ยงในการขนย้ายอาวุธ ยุทธภัณฑ์หรือส่วนควบอาวุธต่าง ๆ ไปยังประเทศอื่น กรณีที่อาจถูกนำไปใช้เพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎบัตรมนุษยธรรมและกฎบัตรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรณีที่มีความเสี่ยงค่อนข้างชัดเจนและไม่อาจบรรเทาได้ รัฐเหล่านั้นจะต้องไม่ส่งมอบอาวุธให้
นาย วิดนีย์ บราวน์ (Widney Brown) ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกฎหมายแหละนโยบายระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์มหาศาลทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับบรรดาประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาวุธรายใหญ่ของโลก สนธิสัญญาฉบับนี้นับเป็นสัญญาณสนับสนุนภาคประชาสังคมที่พยายามรณรงค์เพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ และลดความทุกข์ยากของมนุษย์ รวมทั้งรัฐบาลที่รับฟังเสียงเรียกร้องเหล่านี้
“ช่วงสี่ปีข้างหน้า มูลค่าการค้าในแต่ละปีของอาวุธ ยุทธภัณฑ์หรือส่วนควบอาวุธต่าง ๆ จะสูงเกินกว่าหนึ่งแสนล้านเหรียญ แต่ในวันนี้ต้องถือว่ารัฐต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับมนุษย์และความปลอดภัยเป็นเบื้องต้น”
ขบวนการสิทธิมนุษยชนที่ประกอบด้วยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีส่วนสำคัญในการผลักดันภาคประชาสังคมและได้รับความสนับสนุนจากผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 และถือว่าประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดกฎหมายระดับโลกที่เข้มแข็งและมีผลบังคับใช้เพื่อควบคุมการส่งมอบอาวุธระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการส่งมอบอาวุธเพื่อการทารุณกรรมและการละเมิดสิทธิ
สนธิสัญญาฉบับนี้ได้รับการรับรองภายหลังการพิจารณาในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติกว่าหกปี เริ่มตั้งแต่ธันวาคม 2549 ตอนที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเห็นชอบที่จะปรึกษาหารือกับรัฐภาคีต่าง ๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ ขอบเขต และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญา ทั้งนี้เพื่อควบคุมการส่งมอบอาวุธทั่วไประหว่างประเทศ
รัฐภาคีจำนวนมากแสดงท่าทีในเชิงบวกในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญในเบื้องต้นกับกฎบัตรมนุษยธรรมและกฎบัตรสิทธิมนุษยชน
สนธิสัญญาที่ผ่านการรับรองฉบับนี้ ครอบคลุมอาวุธทั่วไปหลัก ๆ รวมทั้งอาวุธขนาดเล็กและอาวุธเบาซึ่งเพิ่มจำนวนในประเทศที่มีความขัดแย้งในระดับต่ำ ประเทศที่มีการขัดกันด้วยอาวุธและมีการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนเป็นจำนวนมาก
นายไบรอัน วูด เสริมว่าเช่นเดียวกับในการเจรจาสนธิสัญญาทุกฉบับ เราไม่ได้สิ่งที่ต้องการทั้งหมด อย่างเช่น สนธิสัญญาฉบับนี้ยังมีเนื้อหาไม่ครอบคลุมยุทธภัณฑ์ทั้งหมด แต่ก็มีเงื่อนไขให้แก้ไขเพิ่มเติมได้ และยังมีหลักการสำคัญที่หนักแน่นที่จะสถาปนาระบบควบคุมการส่งมอบอาวุธระหว่างประเทศ ไม่ให้อาวุธตกไปถึงมือผู้ที่ใช้เพื่อก่อกรรมทำเข็ญ
“สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อประชาคมโลกมีแนวคิดที่ดีร่วมกันที่จะช่วยให้โลกดีขึ้น และหากเราสามารถรวมตัวกันได้ เราจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างอย่างแท้จริงในระดับโลก”
สนธิสัญญาฉบับนี้จะเปิดให้มีการลงนามและให้สัตยาบันในวันที่ 3 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไปในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และสนธิสัญญาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้หลังจากมีรัฐให้สัตยาบันครบ 50 ประเทศแ