ศชต. ชี้ จนท. ตกเป็นเป้าหมายกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเพราะทราบความเคลื่อนไหวง่าย
เมื่อต้องมารับศพลูกที่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ทำให้หัวใจของพ่อและแม่ของนายเชาวลิตร ไชยฤกษ์ ป้องกันจังหวัดยะลา แทบแหลกสลายหลังลูกชายจบชีวิตลงเพราะแรงระเบิดพร้อมกับนายอิศรา ทองธวัธ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และยังทำให้นายสะตอปา เจ๊ะเล๊าะ บาดเจ็บสาหัสระหว่างเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ในอำเภอเบตง
ไม่แตกต่างไปจากหัวอกของภรรยา ที่ยังมองไม่เห็นอนาคตเมื่อต้องไร้เสาหลัก และต้องดูแลลูกที่ยังอยู่ในชั้นอนุบาลและชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เพียงลำพังซึ่งตลอดเวลาที่สามีรับราชการใน 3 จังหวัดเกือบ 20 ปีได้ทำงานทุ่มเทมาโดยตลอด และแม้ว่าจะมีโอกาสย้ายออกจากพื้นที่แต่ก็ยังอาสาทำงานต่อไป
การจากไปของนายอิศรา และนายเชาวลิตรเป็นเหตุความรุนแรงต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับข้าราชการพลเรือนลูกจ้างหรือพนักงานซึ่งจากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ตั้งแต่ปี 2547 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ปี 2556 มีผู้เสียชีวิตถึง 263 คน และบาดเจ็บ 272 คนซึ่งสาเหตุที่เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ตกเป็นเป้าหมายได้ง่ายเพราะต้องทำงานแบบเกาะติดพื้นที่ และชาวบ้านทำให้หลายคนที่เหลืออยู่ต้องปรับรูปแบบการทำงานใหม่
ท่อน้ำที่ฝั่งลอดใต้ท้องถนนสาย 410 เบตง ยะลา รวมถึงเส้นทางโค้งทำให้ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็ว กลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ผู้ก่อเหตุสามารถนำระเบิดน้ำหนักกว่า 30 กิโลกรัมมาซุกซ่อนก่อนจะจุดฉนวนด้วยแบตเตอร์รี่ อีกทั้งการวางแผนมาอย่างดีของแนวร่วมที่แบ่งหน้าที่เป็นผู้ลงมือ และกลุ่มแจ้งข่าวซึ่งอาจเป็นคนใกล้ชิดเพื่อแจ้งให้ทราบเมื่อรถยนต์ของคณะผ่านมาทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมากจากเหตุการณ์ครั้งนี้เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายนายในอำเภอบังนังสตาที่ต้องจบชีวิตลง ทั้ง พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา หรือจ่าเพียร ผู้กำกับการตำรวจภูธรบังนังสตา เหตุยิงซุ่มยิงพล.ต.ท.ธรณิศ ศรีสุข หรือผู้กองแคน รองผู้บังคับการกองร้อยรบพิเศษที่ 1 ตำรวจตระเวนชายแดน และเหตุซุ่มโจมตี ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือหรือหมวดตี้ รองผู้บัญชาการกองร้อยตำรวจชายแดน หน่วยรบพิเศษที่ 1 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2551