ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สัมภาษณ์พิเศษ 1 ปี รัฐประหาร | นิธิ เอียวศรีวงศ์ : รัฐบาล คสช.เทียบเท่ายุค "รัฐบาลหอย"

15 พ.ค. 58
08:00
583
Logo Thai PBS
สัมภาษณ์พิเศษ 1 ปี รัฐประหาร | นิธิ เอียวศรีวงศ์ : รัฐบาล คสช.เทียบเท่ายุค "รัฐบาลหอย"

แม้จะปลดล็อกประเทศด้วยการยกเลิกกฎอัยการศึกและประกาศอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อให้เสรีภาพของประชาชนได้มีโอกาสหายใจ แต่ยังถือว่า สังคมไทยตกอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัว "หทัยรัตน์ พหลทัพ" และ "ธันยพร บัวทอง" ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่มองเห็นความเป็นไปของการเมืองไทยเกือบเจ็ดทศวรรษ เพื่อให้ฉายภาพสังคมไทยภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

หากไม่เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจ การเติบโตของพลเมืองจะเป็นอย่างไร
ถ้ารัฐยังอยู่ องค์กรของรัฐยังทำงาน แม้จะมีการปิดถนน ผมยอม แต่ถึงขนาดยึดสถานที่ราชการ ผมว่าเกินไปแล้ว ถ้ารัฐยังอยู่จะต้องระงับเหตุนั้นให้ได้

เหตุการณ์ยึดอำนาจผ่านมาแล้ว 1 ปีสังคมไทยได้เรียนรู้อะไร
ผมหวังว่าคนจำนวนมากจะเห็นแล้วว่า ปัญหาของสังคมไทยสลับซับซ้อนเกินกว่าจะใช้อำนาจของกองทัพ แล้วจะแก้ไขทุกอย่างได้ มันแก้ไม่ได้ เพราะมันไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว

ต้องใช้กระบวนการอะไรในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
ผมคิดว่า กระบวนการประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ในสังคมที่ซับซ้อนขนาดนี้จะไม่ให้มีความขัดแย้งเป็นไปไม่ได้ ปัญหาความขัดแย้ง โดยตัวมันเองไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัว คือ ความขัดแย้งที่อยู่นอกกติกา ถ้าคุณสามารถรักษากติกาได้ ก็ให้มันขัดแย้งไป ไม่เห็นเป็นอะไรเลย

สิ่งหนึ่งที่ คสช.บอกว่าเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจก็คือ เพื่อระงับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น อาจารย์คิดว่าเหตุผลนี้รับฟังได้หรือไม่
ผมมีคำถาม 2 ข้อ คือ 1) กองทัพมีส่วนร่วมอยู่ในความขัดแย้งด้วยหรือไม่ เพราะกองทัพในฐานะเครื่องมือของรัฐ ปีที่มีการยึดสนามบิน (ปี 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมยึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ) กองทัพปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลในขณะนั้นในการที่จะยับยั้งการเคลื่อนขบวนไปสนามบินสุวรรณภูมิหรือไม่ ตอนนั้นกองทัพปฏิเสธไม่ทำตามคำสั่งของรัฐบาล ส่วนข้อที่ 2) ในการชุมนุมของ กปปส.กองทัพก็ไปตั้งแคมป์เพื่อปกป้องคุ้มครองกลุ่มคนที่ละเมิดต่อกติกา อย่างนี้เรียกว่า กองทัพมีส่วนร่วมกับความรุนแรงหรือไม่

การจะบอกว่า กองทัพมีความเป็นกลางแล้วออกมาระงับความขัดแย้งจึงฟังไม่ได้ เท่ากับว่ากองทัพมีส่วนร่วมทำให้เกิดความรุนแรง ตามปกติกองทัพทั่วโลกไม่สามารถที่จะยุติความรุนแรงในสังคมได้ หนทางที่จะยุติความรุนแรงได้ คือ ต้องมีกติกาที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ไม่ใช่อยู่ๆ ถ้าใครไม่เห็นด้วยกับ การรัฐประหารก็จับตัวไป อย่างนี้ใช้ไม่ได้ตลอดไป เพราะจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

                            

<"">

อาจารย์เห็นสัญญาณของกองทัพตั้งแต่เลือกตั้งเมื่อหลายปีที่แล้ว
เมื่อมองย้อนกลับไปก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ผมรู้สึกไร้เดียงสาเกินว่า กองทัพไม่มีส่วนร่วมกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มองย้อนกลับก็พบว่า เป็นการวางแผนที่จะทำให้เกิดรัฐล้มเหลว สุดท้ายก็นำมาสู่การยึดอำนาจ ครั้งแรกไม่ทันคิดถึงการยึดอำนาจ แต่คิดว่าเขาจะบีบให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกไปโดยเกิดช่องว่างทางการเมือง แล้วก็มีสภาบางอย่างที่จะเข้ามาจัดการทางการเมือง แต่ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เลือกใช้วิธียุบสภา ไม่ใช่การลาออกไปเฉยๆ จึงทำให้การยึดอำนาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

หลังรัฐประหาร ในฐานะนักวิชาการสูญเสียอะไรไปบ้าง
คงสูญเสียเท่ากับคนอื่นๆ โดยส่วนตัว ผมไม่จำเป็นต้องระงับยับยั้งการเขียนหรือการพูด ผมตั้งใจตั้งแต่ต้นว่า จะไม่ระงับยับยั้งอะไรทั้งสิ้น

นักวิชาการหลายคนถูกควบคุมและถูกจำกัดสิทธิในการแสดงออกทางวิชาการ ถือว่า ส่งผลกระทบต่อวงวิชาการหรือไม่
ความกลัวเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มาก ตอนแรกๆ ที่กลัวอะไรก็แล้วแต่คุณจะกลัวได้สักพักเดียว จากนั้นคุณจะจัดการความกลัว แล้วความกลัวก็จะค่อยๆ หายไป คุณจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ความกลัวเกิดขึ้นอีก ผมคิดว่ามันก็จะเป็นวงจรที่ไม่มีที่สิ้นสุด ท้ายสุดมนุษย์ก็จะหมดความกลัวไปเอง เหมือนการเป็นผีที่เที่ยวหลอกคน แค่แลบลิ้นปลิ้นตา ต่อไปก็เอาหัวมาหิ้วบ้าง ซึ่งก็แล้วแต่วิธีการ มันมากขึ้นเรื่อยจนถึงวันหนึ่งคนที่เคยกลัวก็จะบอกว่าไม่กลัวแล้ว

หลังการยึดอำนาจ ต้นทุนสิทธิเสรีภาพของประเทศถอยหลังไปหรือไม่
ในแง่การสูญเสียการเคลื่อนไหวทางการเมือง อันนี้ชัดเจน ในแง่ดีบางอย่าง ผมเห็นว่า คนจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะนปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ก็จะเห็นว่า การต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยจะฝากความหวังไว้กับนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยหรือตระกูลชินวัตรไม่ได้

ในแง่ของพลเมือง ประชาชนทั้งสองขั้วมีการพัฒนาหรือเติบโตมากขึ้นหรือไม่
คนไทยมองเห็นแล้วว่า การรัฐประหารไม่ใช่คำตอบของสังคมไทย ซึ่งจะมีมากขึ้นแน่ๆ ที่พบแล้วว่า กองทัพไม่สามารถให้คำตอบในทางการเมืองหรือเศรษฐกิจของสังคมไทยได้

อาจารย์มองว่า อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ คสช.เลือกใช้ศาลทหารควบคุมแรงกระเพื่อมทางการเมือง
ก็เป็นความรุนแรงที่ทำให้คนกลัว เพราะคนก็รู้อยู่แล้วว่า ศาลทหารอยู่ในสังกัดของกระทรวงกลาโหม ไม่ใช่ศาลยุติธรรม คุณจะกล้าตัดสินอะไรที่ขัดกับผู้บังคับบัญชาได้อย่างไร

การใช้กระบวนการที่รุนแรงนี้ถือเป็นแรงกระตุ้นต่อการเมืองมวลชนอย่างไรบ้าง
เขาคงไม่เจตนาเพื่อส่งเสริมการเมืองมวลชน แต่ในทางการเคลื่อนไหวทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จะต้องเรียนรู้ไปด้วย ผมไม่ปฏิเสธว่า นปช. หรือ กปปส. ก็คงเพิ่มการเรียนรู้ให้คนจำนวนหนึ่ง แต่สำหรับ นปช.การเรียนรู้ที่สำคัญ คือ อย่าเป็นเพียงติ่งที่ห้อยอยู่กับคุณยิ่งลักษณ์ หรือคุณทักษิณ ชินวัตร หรือ แกนนำ นปช.ต้องเป็นตัวของตัวเอง นี่เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ

ผมไม่แน่ใจ ถ้าไม่เกิดการรัฐประหารครั้งนี้ขึ้น แกนนำ นปช.ไม่ถูกยับยั้ง ผมไม่แน่ใจว่า บทเรียนนี้คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งจะได้เรียนรู้ไหมว่า ถึงที่สุด คุณต้องเป็นที่พึ่งของตัวเอง อย่าไปหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะนำประชาธิปไตยมาให้แต่โดยดี

คนที่ถูกควบคุมตัวหลังเกิดรัฐประหาร อาจเป็นต้นทุนที่อาจทำให้การเมืองมวลชนเติบโตขึ้นหรือไม่ 
ไม่ ต้องแยกกัน เพราะมีคนที่ถูกจับขึ้นศาลทหารจำนวนมากที่ไม่เกี่ยวกับนปช.เลย พูดกันตรงไปตรงมา คือ ขบวนการเสื้อแดงค่อนข้างจะล่มสลาย แต่เป็นข้อดีแก่คนกลุ่มนี้เพื่อเรียนรู้ว่า พวกคุณต้องพึ่งตัวเอง ไม่ใช่พรรคการเมืองหรือคนในตระกูลชินวัตร

                           

<"">

แสดงว่าการเมืองมวลชนเริ่มโตด้วยตัวเอง
ใช่ ตราบใดที่การเมืองมวลชน ทั้ง นปช. กปปส.โตขึ้น ถามว่าคนที่จะร่วมชุมนุมเหล่านี้มีส่วนกำหนดการเคลื่อนไหวแค่ไหน ผมคิดว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้มีส่วนกำหนดอะไรเลย แล้วแต่ผู้นำที่อยู่บนเวทีและหลังเวทีจะตกลงว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร อย่างนี้มันไม่มีอนาคต

เกือบ 1 ปีการยึดอำนาจของ คสช. เห็นการบริหารบ้านเมืองเทียบเท่ากับยุคไหนของรัฐบาลในสังคมไทย
ผมเห็นว่า เหมือนรัฐบาลของคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร เพราะเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลไม่ได้ถูกควบคุมจากใคร ไม่ได้ถูกตรวจสอบจากใคร ไม่มีการถ่วงดุลจากคนอื่น คุณก็จะได้รัฐบาลที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เหมือนสมัยคุณธานินทร์เป็นนายกฯ แทบจะไม่ให้มีความเห็นอะไร เซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์อย่างละเอียด เมื่อเป็นเช่นนี้คุณก็มุดเข้าไปอยู่กลุ่มเล็กๆ ของคุณ มองอะไรก็ไม่กว้างพอ รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์จะดีจะเลว คุณยิ่งลักษณ์จะเก่งหรือไม่เก่ง ผมไม่ทราบ แต่เพราะเหตุผลที่รัฐบาลมาจากกระบวนการประชาธิปไตยจึงเปิดให้คนทั้งด่าทั้งชมมากพอที่เขาจะปรับตัวเองได้ ถ้ารัฐบาลนี้เปิดสิ่งเหล่านี้ก็สามารถปรับตัวเขาเองได้

คสช.กำลังสร้างมรดกอะไรให้คนรุ่นหลัง
ก็สร้างแบบเดียวกันกับรัฐบาลธานินทร์สร้าง เช่น นโยบายทางเศรษฐกิจแบบที่่มีคนไม่เห็นด้วยเต็มไปหมด แต่ไม่มีใครไปบอก คสช.ได้ว่า อันนี้ผิด ซึ่งตอนนี้นโยบายเศรษฐกิจก็ไปด้วยกันกับนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้ว

อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้ไม่เห็นอนาคตของสังคมไทย อาจารย์เชื่อว่าสังคมไทยไม่มีอนาคตจริงๆ หรือ
ถ้าสมมุติว่า ไม่มี คสช. ถ้าคุณไม่สามารถก้าวไปสู่ประชาธิปไตยได้ ผมมองไม่เห็นอนาคต เพราะว่าชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง กลุ่มใหญ่พอสมควร คนกลุ่มนี้เข้ามายึดกุมทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจชนิดผูกขาดหลายสิบปี พอประชาชนระดับล่างเติบโตขึ้น อยากจะเข้ามากำหนดทิศทางบ้าง คนกลุ่มก็ใช้วิธีร้อยแปดผลักคนระดับล่าง ถามว่าคุณจะหยุดการเติบโตของประชาชนระดับล่างได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ ขณะเดียวกันชนชั้นนำจะรักษาอำนาจตลอดไปได้หรือไม่ คำตอบคือไม่แน่ ซึ่งถ้าเขารักษาอำนาจโดยไม่ยอมผ่อนปรนต่อกันและกัน ผมเกรงว่า ประเทศจะมีแต่ความตึงเครียด รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่

                          

<"">


ข่าวที่เกี่ยวข้อง