ภายหลังจากที่ตัวแทนรัฐบาลไทย นำโดยพล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติได้พูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา และได้นำข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นกลับมาหารือ แต่หากพิจารณาแล้วพบว่า ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นขัดต่อรัฐธรรมนูญ กรณีนี้จะทำให้กระบวนพูดคุยยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่
โดยนายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย เห็นว่า กระบวนการพูดคุยที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นอยู่ในสภาวะชะงักงัน เดินหน้าต่อไปไม่ได้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนคนละกรอบ จากกรอบเดิมที่เห็นพ้องร่วมกันที่จะเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยใช้รัฐธรรมนูญไทยเป็นกรอบ ซึ่งในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญนั้น ระบุว่า รัฐไทยเป็นหนึ่งเดียวไม่สามารถแบ่งแยกได้ ดังนั้นผู้ที่ร่วมลงนามในกรอบการพูดคุย เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา คือการแสดงฉันทามติที่จะเข้าสู่กระบวนการ ต้องละทิ้งอุดมการณ์การจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน
ทั้งนี้ข้อเสนอ 5 ข้อ ผ่านเว็บไซต์ยูทูบของฮัสซัน ตอยิบ และนายอับดุลการิม คอลิบ ตัวแทนบีอาร์เอ็นนั้น แสดงให้เห็นว่า จุดยืนของบีอาร์เอ็นยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และนัยยะในการประกาศผ่านยูทูบ เพราะหากพูดในที่ลับหรือในที่ประชุมจะไม่สามารถสื่อสารไปยังประชาชน และกองกำลังได้
ส่วนการพูดคุยครั้งใหม่วันที่ 13 มิ.ย.นี้ ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ เห็นว่า รัฐบาลควรใช้เวลาช่วงก่อนการพูดคุยปรับท่าที และเสนอแนะว่า บางเรื่องอาจต้องพูดคุยกันแบบไม่เปิดเผย ในเมื่อจุดยืนของทั้งสองฝ่ายในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับกรอบ
การลงนาม เมื่อวันที่ 28 ก.พ.จะต้องมีการลงนามใหม่หรือไม่
"ต้องเพิ่มบทบาทในด้านรุกมากขึ้น เพราะบีอาร์เอ็นคิดว่า แถลงการณ์ทำให้กระบวนการที่เริ่มโดยฝ่ายไทยเสียกระบวน และชะงักงัน ตอกย้ำจุดยืนบีอาร์เอ็นที่แข็งกร้าว" นายสุนัยกล่าว
ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ เสนอแนะว่า จากการแถลงการณ์ 5 ข้อนั้น รัฐบาลควรพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยการปรับกรอบการพูดคุย การเพิ่มบทบาทเชิงรุก ตั้งเงื่อนไขให้ชัดเจน รวมถึงรูปแบบการพูดคุย แต่การพูดคุยทุก 1 เดือน เห็นว่าถี่เกินไป และยังไม่เห็นผลในทางรูปธรรม ทั้งนี้เห็นด้วยการทำเรื่องนี้ให้เป็นสาธารณะ แต่ย่อมถูกคาดหวังจากสาธารณชนตามไปด้วย
ขณะที่ การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียที่จะเกิดขึ้นนั้น หากพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้ง จะทำให้การพูดคุยชะงักหรือไม่ ถ้าดูจากจุดยืนนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซียจะเห็นได้ว่า มีความเป็นห่วงสถานการณ์ภาคใต้มาตั้งแต่ตั้น และอยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้น แต่วิธีการจะต่างไป จากการกดดันจะเป็นวิธีที่นุ่มนวลมากกว่า ยึดความยุติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนมากกว่า