คณะแพทย์ มข. เผยปรับค่าตอบแทนแบบพีโฟร์พี ส่งผลบุคลากรลาออกจากตำแหน่ง
จากการสำรวจแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน 50 แห่ง สำหรับการตัดสินใจปฏิบัติงานต่อนโยบายการปรับค่าตอบแทนเหมาจ่าย เป็นค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ พีฟอร์พี พบว่า ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 89.5 ไม่เห็นด้วยกับการนำนโยบาย พีฟอร์พี มาใช้ในโรงพยาบาลชุมชน โดยให้เหตุผลว่า การจัดทำข้อมูลอาจทำให้เวลาดูแลผู้ป่วยลดลง เป็นนโยบายที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าดีจริง และอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้เปลี่ยนไป
ขณะที่ร้อยละ 46.4 มองว่า นโยบาย พี ฟอร์ พี มีผลต่อการเลือกสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งหากไม่ใช้นโยบายนี้จะตัดสินใจปฏิบัติงานต่อในโรงพยาบาลชุมชนอีก 10 ปี แต่หากใช้นโยบายนี้ อาจตัดสินใจอยู่ปฏิบัติงานอีกเพียง 2 ปี โดยเลือกลาออกจากราชการ มากถึงร้อยละ 32.6 รองลงมาคือ เรียนต่อ และย้ายไปทำงานในเมือง
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปี 2553 ระบุว่า ไทยมีแพทย์ 22,019 คน เป็นแพทย์ชนบท 3,919 คน หรือ ร้อยละ 17.8 ของแพทย์ทั้งหมด ซึ่งดูแลประชากรถึงร้อยละ 54 แสดงให้เห็นปัญหาการกระจายของแพทย์ที่ยังไม่เหมาะสม จึงเป็นห่วงว่า หากมีการใช้ค่าตอบแทน พี ฟอร์ พี จะยิ่งทำให้การกระจายตัวของแพทย์ไปยังพื้นที่ชนบทไม่สมดุลมากขึ้น