ระดมแก้ปัญหา
เป็นครั้งแรก ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีความสำคัญกำหนดดอกเบี้ยนโยบาย เข้าประชุมเกือบทั้งคณะ ร่วมกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมกับ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปลัดกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน และก็เป็นครั้งแรกเช่นกันที่ กนง. มีโอกาสรับฟัง ปัญหาและผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทจากภาคเอกชน
ไม่มีมติใดๆออกมา หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น แต่ท่าทีที่เปลี่ยนไปทั้งจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ลดความแข็งกร้าว โดยเฉพาะประเด็นการลดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นวิวาทะก่อนหน้านี้ มีข้อสังเกตจาก ผู้เข้าร่วมจากภาคเอกชนบางกลุ่ม ว่า การหารือร่วมกันของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ทั้งการเงิน และกาคลัง ในวันหยุดไม่ใช่วาระปกติ และไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมา แต่ระหว่างการประชุม ก็เห็นตรงกันให้จัดประชุมร่วมกันบ่อยครั้งมากขึ้น หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ และให้สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ประสานงาน
ขณะที่ ตัวแทนเอกชน เช่น สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม พอใจที่การประชุมเป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดี สอดคล้อกกับค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลง ทำให้มีความหวังว่าการส่งออกในไตรมาส 2 จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังวางใจไม่ได้
ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและแข็งค่าที่สุดในรอบ 16 ปี เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 28 บาท 50 สตางค์ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ และมีกระแสกดดันจากทั้งฝ่ายการเมืองและเอกชน ที่ต้องการให้กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 1 จากระดับปัจจุบันร้อยละ 2.75 แต่ขณะนี้ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ที่ 29 บาท 83 สตางค์ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีสาเหตุจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น และอาจมีผลในระยะยาวกับไทย