ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการชี้การแก้ไขวิกฤตทางการเมืองคือการสร้างความวางใจ ไม่ใช่ออก พ.ร.บ.ปรองดอง

18 พ.ค. 56
15:49
82
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้การแก้ไขวิกฤตทางการเมืองคือการสร้างความวางใจ ไม่ใช่ออก พ.ร.บ.ปรองดอง

เหตุวิกฤตการเมือง ปี 2553 ซึ่งเกิดการสูญเสียในชีวิต และทรัพย์สินครั้งใหญ่ ครั้งหนึ่ง เป็นประวัติการณ์ของประเทศ โดย คอป.ชี้ว่าสาเหตุเกิดจากความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทย ซึ่งนักวิชาการอิสระ ชี้ว่าเงื่อนไขสำคัญของสังคมไทยคือการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การออกกฎหมายยกเว้นความผิด เพื่อความปรองดอง

การถอดตรวนผู้ต้องขังทั่วประเทศ และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุวิกฤตการเมือง เป็น 2 เรื่องหลักที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยขับเคลื่อน และเดินหน้าตามข้อเสนอของคณะ กรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ทั้งที่รายงานสรุปถูกนำเสนอนานร่วมปี เพื่อให้สังคมการเมืองไทยเดินหน้าเข้าสู่สภาวะการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น

นายสมชาย หอมลออ อดีตกรรมการ คอป. ชี้ว่าความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทย ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน ยังคงมีความพยายามที่จะปลุกระแสให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า สังคมการเมืองไทย ยังไม่ได้เรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นจากเหตุวิกฤตการเมือง ปี 2553 และข้อเสนอของ คอป. ก็ถูกหยิบยกมาใช้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยส่วนสำคัญ อย่างกรณีที่เสนอให้คู่ขัดแย้ง ทบทวนและแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเอง และเปิดเวทีสานเสวนาระหว่างกัน เพื่อทำความเข้าใจ กลับยังไม่มีการดำเนินการขึ้น

ไม่ต่างกับผลวิเคราะห์บริบทของสังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน ที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ก็เชื่อว่า ความขัดแย้งยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างที่สามารถปะทุขึ้นได้ตลอดเวลา หากคู่ขัดแย้งยังไม่ได้พูดคุยทำความเข้าใจให้ตรงกัน แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าอาจเป็นเรื่องยากที่คู่ขัดแย้งจะเปิดเจรจากันได้ เพราะยังมีทัศนคติที่ต่างกัน

หากจะสรุปบทเรียนเหตุวิกฤตการเมือง ปี 2553นั้น นักวิชาการ เห็นว่าความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่ นปช.และผู้กุมอำนาจรัฐ ยังเชื่อว่าเหตุการณ์ และความรับผิด อยู่ที่เกมการเมือง

แต่สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบชี้ว่า การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงนั้น นำมาซึ่งการสูญเสีย แต่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยยังคงมีอยู่ และความสำคัญนับจากนี้ คือการสร้างความปรองดอง ที่ควรเน้นการพูดคุยทำความเข้าใจ แทนการใช้กฎหมายยกเว้นความผิด ซึ่งกำลังมีความพยายามผลักดันให้ พ.ร.บ.ปรองดองหรือนิรโทษกรรมได้มีผลบังคับใช้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง